ฝ่ายค้าน‘ล็อกเป้า’ ถล่ม 3พ.ร.ก.กู้เงิน

27 พ.ค. 2563 | 01:30 น.

 

ไฮไลต์การเมืองในช่วงสัปดาห์นี้ หนีไม่พ้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ โดยมี 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 

1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 

2. พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 

3. พ.ร.ก.รักษาเสถียร ภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 

และ 4.พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้กำหนดเวลาอภิปรายไว้ 5 วัน ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ของวันที่ 27 พฤษภาคมไปสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 

มีการจัดสรรเวลาให้กับ 20 พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ โดยฝ่ายรัฐบาลได้ 22 ชั่วโมง แบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 11 ชั่วโมง การประชุมจะเลิกก่อนเวลา 20.00 น.

 

จัด65ขุนพลถล่ม

ด้านการเตรียมตัวของพรรคฝ่ายค้านเพื่ออภิปรายที่จะพุ่งเป้าไปที่ 3 พ.ร.ก.ที่เกี่ยวกับการกู้เงินนั้น เบื้องต้นวางคนอภิปราย 60-65 คน อาทิ พรรคเพื่อไทย 35 คน พรรคก้าวไกล 15 คน ส่วนที่เหลือลดหลั่นไปตามสัดส่วนของส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรค 

ก่อนหน้านั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้เรียกประชุม ส.ส.หารือร่วมกัน เพื่อเตรียมการอภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับที่เกี่ยวกับการกู้เงินของรัฐบาล โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเข้าร่วม อาทิ นายโภคินพลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายกิตติรัตน์ นายสุชาติ ธาดาธำรงค์เวช ร่วมให้คำแนะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและข้อกฎหมาย

 

ฝ่ายค้าน‘ล็อกเป้า’ ถล่ม 3พ.ร.ก.กู้เงิน

 

จี้รัฐเร่งฟื้นฟูศก.

สำหรับเนื้อในการอภิปราย พรรคเพื่อไทยเห็นว่า มาตรการที่รัฐใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การล็อกดาวน์ประเทศ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการประกาศเคอร์ฟิว ไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ 

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลหมดความจำเป็นที่จะคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป ในทางกลับกันรัฐบาลควรปลดล็อกให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเสียหายมากที่สุดในรอบ 100 ปี โดยประเมินว่าจีดีพีอาจ จะติดลบถึงร้อยละ 7-9 ส่ง ผล คนตกงานมากกว่า 7-10 ล้านคน 

สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐบาลยัง “เยียวยา” ไม่ทั่วถึง ดำเนินการด้วยความล่าช้า สร้างกติกากฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากกับประชาชน ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการเยียวยา และส่อไปในทางทุจริตเอื้อพวกพ้อง รวมทั้งไม่มียุทธศาสตร์ที่ทำให้การ “เยียวยา” เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 

โดยจะเห็นได้จากข่าวทำให้ประชาชนต้องฆ่าตัวตาย และเงินเยียวยาที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้ไหลไปสู่กระเป๋าของมหาเศรษฐีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่า การกระทรวงกลาโหม เขียนจดหมายไปขอให้ช่วยรัฐบาล

 

 

กระตุ้นการบริโภค

นอกจากนี้ในส่วนการพยุงรักษาเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย พรรคเพื่อไทยเห็นว่า รัฐบาลมิได้มีมาตรการที่จะดูแลรักษาหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการ หรือบางรายต้องย้ายฐานเศรษฐกิจไปลงทุนในประเทศอื่น ส่งผลทำให้เกิดการเลิกจ้างงาน ซึ่งจะทำให้คนตกงานอย่างมหาศาล 

ปัญหาอาชญากรรมจะตามมา พระราชกำหนด 2 ฉบับได้แก่ พระราชกำหนดช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ
พระราชกำหนดรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หรือที่เรียกว่า พระราชกำหนดอุ้มหุ้นกู้เศรษฐี ที่กระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปช่วยใช้หนี้จากเงินภาษีของประชาชน ไม่ตอบโจทย์ของประเทศและไม่สามารถพยุงรักษาเศรษฐกิจไว้ได้ ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 แม้จะเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลก แต่จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย การท่องเที่ยวและบริการ การแพทย์และการสาธารณสุขการลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ แต่รัฐบาลจะต้องรักษาฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้ได้ นั่นคือการบริโภคภายใน

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งฟื้นฟูด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในเพื่อเป็นฐานคํ้ายันเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ล่มสลาย เพื่อรอให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นได้ทำงาน ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ปัญหาคือ คนไทยขาดกำลังซื้อมาก่อนเกิดโควิดแล้ว 

 

 

หวั่นเอื้อมหาเศรษฐี

“โจทย์ของพรรคเพื่อไทยคือ รัฐบาลจะสร้างกำลังซื้อให้ประชาชนได้อย่างไร ในด้านผู้ขายได้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือที่เรียกว่า เอสเอ็มอี ที่ได้รับความเสียหายมาก่อนเกิดโควิด-19 เช่นกัน แม้รัฐบาลจะออกพระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือ เอสเอ็มอี โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดหาสินเชื่อรวม 500,000 บาท ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการใดที่จะทำให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อันจะทำให้ไม่เกิดการกระจายรายได้ เพราะเงินกู้ที่ประชาชนต้องใช้หนี้จะไหลไปสู่ธุรกิจของมหาเศรษฐีบางรายที่คํ้าจุนรัฐบาลอยู่ ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะแก้อย่างไร” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

 

กังวลเปิดช่องโหว่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.กู้เงิน รวมทั้งกรณีที่รัฐบาลให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกตราสารหนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ภาคเอกชน มีความจำเป็นแค่ไหน เพราะในความเป็นจริงธนาคารพาณิชย์ก็มีเพียงพออยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาบริหารจัดการ แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นผู้เล่น จะส่งผลให้ขาดความเป็นกลาง และเกรงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว

พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท ที่เม็ดเงินส่วนหนึ่งนำมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีความจำเป็นเพียงไรที่จะต้องกู้เงินมาลงทุน เพราะหลายโครงการไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงต้องกู้เงิน รัฐบาลสามารถเสนอโครงการมารอในงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ไม่จำเป็นต้องมากู้นอกงบประมาณ การดำเนินการของรัฐส่อเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบหรือไม่ ในการพิจารณาเงินกู้ของรัฐ สมาชิกสภามีอำนาจแค่อนุมัติหรือไม่เท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ส.ส.เชียงใหม่ผู้นี้ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบใช่หรือไม่ และเกรงว่าจะมีการเปิดช่องโหว่ให้มีการทุจริตในโครงการที่เสนอขอใช้งบประมาณจากการกู้เงินของรัฐ เพราะใน พ.ร.ก.กู้เงิน เขียนไว้เพียงแค่การกู้เงินมาเพื่อประโยชน์ใดเท่านั้น แต่ไม่มีการลงรายละเอียดโครงการ และในหลายโครงการก็ซํ้าซ้อน กับการใช้งบประมาณประจำปี 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,578 หน้า 10 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม 2563