อัยการเผย 21 วัน ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน17,284 คน

24 เม.ย. 2563 | 06:07 น.

ศูนย์โควิด อส. เผยช่วง3 – 23 เมษา ฟ้องคดีฝ่าฝืนพรก. ฉุกเฉินแล้ว 17,284 คน พบมากในอายุ 20-35 ปี ชี้ยิ่งฝ่าฝืนมากตัวเลขติดเชื้อใหม่ยิ่งสูง

นายประยุทธ เพชรคุณ

 

วันที่ 4 เม.ย.63 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลการดำเนินคดีผู้ที่ทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของสำนักงานอัยการต่างๆ ทั่วประเทศ ที่พนักงานอัยการได้ฟ้องคดีต่อศาลในช่วง 21 คือ ระหว่างวันที่ 3 – 23 เมษายน 2563 และได้รายงานข้อมูลมายังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานอัยการสูงสุด (ศบสค.อส.) ซึ่งมีนายสาวิตร บุญประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุดเป็นประธานศูนย์ฯ 

 

ต่อมานายรัชต์เทพ ดีประหลาด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการสำนักงานอัยการสูงสุด และนางณฐนน แก้วกระจ่าง ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผลการดำเนินคดีผ่านสารบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานอัยการสูงสุด ปรากฏว่าภาพรวมทั้งประเทศมีการดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวรวมแล้วทั้งสิ้น 12,927 คดี มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดี จำนวน 17,284 คน

 

ศูนย์ ศบสค.อส. ได้จัดทำรายงานสถิติคดีการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ช่วงระหว่างวันที่ 3 - 23 เมษายน 2563 ดังกล่าว (ปรากฏตามกราฟที่แสดง) เป็นรายวัน ซึ่งได้จำแนกสถิติจำนวนคดี จำนวนผู้กระทำความผิด (แยกเพศหญิง และชาย) และช่วงอายุของผู้กระทำการฝ่าฝืน จากสถิติจะเห็นได้ว่า


 

อัยการเผย 21 วัน ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน17,284 คน

 

1. วันที่มีการกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ สูงสุด จะสัมพันธ์กับจำนวนของผู้ติดเชื้อที่พบใหม่ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) (ศบค.) ซึ่งมีจำนวนที่สูงด้วยเช่นกัน กล่าวคือวันที่มีการพบการกระทำความผิดมากที่สุดคือวันที่ 7 เมษายน 2563 ทั่วประเทศมีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ ทั้งหมด 1,551 คดี ผู้ต้องหารวม 1,919 คน ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลของ ศบค. ที่รายงานว่าในวันที่ 8 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 111 คน เป็นต้น

2. ช่วงอายุของผู้ที่ผ่าฝืนพระราชกำหนดฯ มากที่สุดคือ ช่วงอายุ 20-35 ปี รองลงมาเป็นช่วงอายุ 35 - 55 ปี ซึ่งก็เป็นช่วงอายุที่สัมพันธ์กับช่วงอายุของกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากที่สุดด้วยเช่นกัน

 

3. จากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ระยะหลังจำนวนผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมีแนวโน้มลดลง ทั้งจำนวนคดีและจำนวนผู้กระทำความผิด ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนผู้ที่ติดเชื่อเพิ่มใหม่ เช่น วันที่ 23 เมษายน 2563 มีผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ 455 คดี จำนวนผู้ต้องหา 714 คน ซึ่งเป็นสถิติที่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ น้อยที่สุดตั้งแต่ประกาศบังคับใช้ ในขณะเดียวกัน ในวันดังกล่าวก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มใหม่น้อยที่สุด เพียง 13 คน เป็นต้น

 

"จากความสัมพันธ์ของข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่าหากประชาชนมีการปฏิบัติตามพระราชกำหนดฯ อย่างเคร่งครัดจะยิ่งทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดจะยังคงบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ กับผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดฯ อย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยยับยั้ง และหยุดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)"นายประยุทธกล่าว