“วิลาศ”กัดไม่ปล่อย!สอบสร้างสภาใหม่

24 เม.ย. 2563 | 06:41 น.

“วิลาศ”ที่ปรึกษากมธ.วิสามัญฯตรวจสอบโครงการสร้างสภาใหม่ เผย อุปสรรคสำคัญ คนให้ข้อมูลพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง-เอกสารขัดกัน ย้ำ เกาะตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

24 เมษายน 2563 นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานตรวจสอบของ กมธ.วิสามัญฯว่า ปัญหาสำคัญ คือ การเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่มาให้ข้อมูลต่อ กมธ.วิสามัญฯซึ่งบางครั้งบุคคลที่มาให้ข้อมูลพูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น กรณีตัวแทนของบริษัทผู้รับจ้างทำเรื่องขอเบิกจ่ายงบฯค่าก่อสร้าง ค่างานที่ต้องดำเนินการต่างๆ อาทิ ห้องประชุมจันทรา และห้องประชุมคณะกรรมาธิการ เป็นจำนวนกว่า 70 ล้านบาท ปรากฏว่า ตัวแทนของบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างได้ปฏิเสธกับกมธ.วิสามัญฯว่า ไม่มีการทำเรื่องขอเบิกเงินงบฯ ค่าเร่งรัดก่อสร้างโดยยืนยันว่า ทางบริษัทจะไม่เบิกงบฯหรือทำสิ่งที่ผิดกฎหมายซึ่งในการประชุม กมธ.วิสามัญฯ ครั้งนั้นก็มีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั่งร่วมประชุมเพราะเป็นหนึ่งในคณะกมธ.วิสามัญฯชุดนี้ด้วย แต่กลับไม่ได้มีการท้วงติง หรือโต้แย้งตามข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ทั้งยังปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารที่ขัดกับการให้ข้อมูลของตัวแทนบ.ก่อสร้าง เป็นเอกสารทำเรื่องขอเบิกงบฯ เป็นค่าใช้จ่าย ค่าเร่งรัดการก่อสร้างฯ ระบุลงวันที่ 10 ธ.ค. 62โดยในหนังสือดังกล่าว มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทผู้รับจ้างอยู่ชัดเจน ที่ทำขอเบิกจ่ายค่าเร่งรัดงานก่อสร้างเป็นจำนวนเงินรวม 73,544,810 บาท ส่งถึงสำนักงานเลขาธิการสภาฯในขณะนั้น

อีกกรณี คือ กมธ.วิสามัญฯเชิญบริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ บ.รับเหมาก่อสร้าง บ.ที่ปรึกษาการก่อสร้าง บ.ควบคุมงานก่อสร้าง บ. ติดตั้งระบบไอซีทีในสภาฯ มาร่วมประชุมรวมเพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคการก่อสร้างที่ล่าช้า และสอบถามว่าทำอย่างไรเพื่อไม่ต้องจะมีการขยายสัญญาก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ครั้งต่อๆไปอีกโดยให้บริษัททั้งหมดไปหาข้อสรุปเพื่อมารายงานต่อ กมธ.วิสามัญฯ ปรากฏว่า หลังหารือบริษัทเหล่านี้มี 3 เงื่อนไข แต่เมื่อนำเสนอเป็นรายงานต่อ กมธ.วิสามัญฯ กลับมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น ข้อที่ 4 งอกเพิ่มขึ้นที่ระบุว่า

“งานที่ได้ดำเนินการไปแล้วตาม Shop drawing หรือ Mock up หรือ วัสดุก่อสร้างที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วนั้น หากมีข้อท้วงติงเพิ่มเติมจากผู้ออกแบบในภายหลังจะต้องยึดถือตามที่ได้รับอนุมัติมาเพื่อลดงานเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขงานที่แล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว” หรือพูดแปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า งานที่มีการก่อสร้างบางรายการที่ผิดไปจากต้นแบบการก่อสร้างและเกิดมีปัญหาโต้เถียงกันอยู่การระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมในข้อ4 ก็เพื่อผูกมัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า แม้ว่าจะก่อสร้างผิดไปจากต้นแบบก็ไม่ต้องมีการแก้ไขงานอีก จะได้ไม่มีการขยายสัญญาอีกครั้งใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้แล้วถามว่า งานการก่อสร้างสภาฯแห่งใหม่จะเป็นไปตามต้นแบบและถูกต้องหรือไม่อย่างไร มีการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งตนจะติดตามเรื่องนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด