สธ.ชงผ่อนปรนล็อตแรก32จังหวัดเปิดห้าง-ร้านตัดผม

20 เม.ย. 2563 | 07:28 น.

สธ.ชงผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 จัดกลุ่มจังหวัดตามความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง ทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม สวนสาธารณะ เริ่มต้นพ.ค. รวม 32 จังหวัด ก่อนทยอยเปิดอีกใน 38 จังหวัด ส่วน 7 จังหวัด กทม.-ปริมณฑล รอต้นเดือนมิ.ย. เหตุยังพบการระบาด ขณะที่ผับ-บาร์-บ่อน-สนามมวย ยังห้ามเปิด  

วันนี้(20 เม.ย.62) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดโรคติดเชื้อไวรัส-19 โดนมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน 


ภายหลังการประชุม นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรมว.สาธารณสุข แถลงว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันถึงการผ่อนปรนมาตรการเพื่อให้ประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจสามารถไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ 


โดยเรื่องการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ได้มีการหารือและทราบว่าขณะนี้มีประชาชน 7-10 ล้านคน ประสบปัญหาตกงาน ได้มีการประเมินร่วมกัน และผ่อนปรนเพื่อให้การดำเนินงานสามารถกลับมาทำได้ตามปกติ โดยปรับตามความเสี่ยง และความหนาแน่นในพื้นที่ของสถานประกอบการ แบ่งเป็นเสี่ยงสูง เสี่ยงกลาง เสี่ยงต่ำ 


ทั้งนี้การพิจารณาใช้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จากวันที่ 14เมษายน พบว่า ในพื้นที่ 32 จังหวัด ไม่มีการระบาดมานาน 2 สัปดาห์ ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อระดับต่ำ กลุ่มนี้จะสามารถผ่อนปรนมาตรการได้ก่อน เริ่มดำเนินการต้นเดือนพฤษภาคม จากนั้นหาก 2 สัปดาห์ สถานการณ์ดีก็พิจารณาเพิ่มจังหวัดที่มีการติดเชื้อประปรายในรอบ 2 สัปดาห์อีก 38 จังหวัด ให้เปิดดำเนินการได้ปกติ คาดว่ากลุ่มนี้ดำเนินการได้กลางเดือนพฤษภาคม  


ส่วนที่เหลืออีก 7 จังหวัด ที่พบการติดเชื้อต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ คาดว่าจะสามารถผ่อนปรนเปิดจังหวัดได้ ประมาณต้นเดือนมิถุนายน แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดใหม่ในระลอก 2-3  
                                                          สธ.ชงผ่อนปรนล็อตแรก32จังหวัดเปิดห้าง-ร้านตัดผม

สำหรับ 32 จังหวัดนำร่องแรก ประกอบด้วย จ.น่าน กำแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่  มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาพสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลาภู อำนาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี

 

ส่วน 38 จังหวัดที่เหลือคาดว่าเปิดในรอบ 2 กลางเดือนพฤษภาคม ได้แก่  ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราซ นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี  ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษภร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี


ขณะที่ 7 จังหวัดที่ยังพบผู้ป่วย และจะสามารถผ่อนปรนเปิดทำการเป็นกลุ่มสุดท้าย ต้นมิถุนายน ได้แก่ กทม. ชลบุรี นนทบุรี ภูเกีต สมุทรปราการ  ปัตตานี ยะลา  


นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า หากประชาชนและภาคธุรกิจ ร่วมมือกันปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้เกิดความสมดุลต่อการใช้ชีวิต  ความปลอดภัย ธุรกิจก็เดินหน้า ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนไปเพื่อความปลอดภัย ภาคธุรกิจก็จะนำแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณา ปรับให้เหมาะสม พิจารณาจากสถานที่ ห้องเล็กแคบหรือแออัด ความถ่ายเทของอากาศ เช่น ร้านอาหารจัดโต๊ะให้มีระยะห่าง ร้านตัดผมจัดทำเวลานัดมาตัดผม ไม่อนุญาตให้คนเข้าไปรอที่ร้าน 

 

สำหรับห้างสรรพสินค้า ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงปานกลาง การเข้าไปทำกิจกรรมในห้างร้าน ต้องมีการตรวจคัดกรองหน้าทางเข้า วัดอุณหภูมิและกำหนดระยะเวลา การใช้บริการและจำนวนที่เข้า ห้องน้ำภายในห้างต้องไม่รอคิว ทำแอปพลิเคชัน บันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการในห้างและให้ข้อมูลกับประชาชน ขณะเดียวก็สามารถบอกได้ว่ามาใช้บริการอะไร สิ่งสำคัญห้ามจัดนาทีทอง โปรโมชั่นอย่างเด็ดขาด 


ส่วนสวนสาธารณะ คาดว่าเป็นสิ่งแรกที่สามารถกลับมาดำเนินการได้เพราะเสี่ยงต่ำ แต่การออกำลังต้องไม่จับกลุ่มชุมชน เช่น การออกกำลังกายทำได้ แต่ต้องไม่จับกลุ่มกินน้ำชากันต่อ ส่วนในเด็กนักเรียน ที่เลื่อนการเปิดภาคเรียนไปเดือนกรกฎาคม นั้น ก็ต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการติดเครื่องปรับอากาศ  ต้องมีการจัดโต๊ะและระยะห่าง 


สำหรับกิจการที่ต้องหยุดดำเนินต่อ เนื่องจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ได้แก่ สถานบันเทิงผับ บาร์คลับ คาราโอเกะ อาบอบนวด สนามมวย ที่มีการพนันแข่งขัน กู่ร้อง ตะโกน เป็นผลมาจากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรค  ที่เป็นต้นตอของการเพิ่มจำนวนผู้ป่วย 

 

ทั้งนี้ มาตรการที่ต้องคงไว้ไม่สามารถผ่อนปรนได้ ได้แก่ การตรวจคัดกรองประชาชน ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ที่เดินทางมาต้องอยู่ภายในภายที่กักตัวที่รัฐจัดหาให้ 14 วัน ตามที่รัฐกำหนด และทุกจังหวัดต้องมีการค้นหาผู้ติดเชื้อรายไม่ ในแออัดหนาแน่น  และเพิ่มความเข้มข้นเรื่องการตรวจแล็บ ซึ่งมาตรการนี้ต้องไม่หย่อนยานเด็ดขาด 


และมาตรการที่ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอ คือการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างเหมือนเดิม งดการชุมนุม เพื่อไม่ให้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  
นพ.คำนวณ กล่าวว่า ต่อไปในอนาคต การพิจารณาปิดสถานที่ จะ ไม่ทำแบบครอบจักรวาล ขยายเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ ทั้งประเทศ  77 จังหวัด แต่จะพิจารณาบางพื้นที่ และมีการรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์เฉพาะในพื้นที่ที่เกิดปัญหา เพื่อเป็นการชะลอไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดซ้ำอีก                           


นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า กรอบแนวคิดรูปแบบต่างๆ นี้ รมว.สาธารณสุข จะนำไปเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่อไป