คลังฉีด1ล้านล้านช่วยทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติโควิด

07 เม.ย. 2563 | 10:10 น.

“อุตตม” แจงแผนอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท กัน 6 แสนล้าน เยียวยาทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อีก 4 แสนล้านสำหรับการฟื้นฟู

เมื่อเวลา 14.00 น. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.ได้เห็นชอบมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา(โควิด19) วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท 1.9 ล้านล้าน 


แบ่งเป็นเม็ดเงินที่มาจากการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และการออกพระราชกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีและการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงินอีก 9 แสนล้านบาท


สำหรับการออกพ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะกู้เป็นเงินบาทเป็นหลัก กำหนดเวลาการกู้ การดำเนินการการกู้ต้องเสร็จสิ้นภายใน 30 ก.ย. 2564 หรือ 1 ปี 6 เดือน แต่จะไม่กู้เงินทั้งหมดมากองไว้ 1 ล้านล้านบาท จะเป็นการทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณ 

 

คลังฉีด1ล้านล้านช่วยทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติโควิด


ตามที่ระบุในพ.ร.ก.กู้เงินนี้ เม็ดเงินจะนำมาใช้ 1.ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ลูกจ้าง อิสระ เดือนละ 5 พันบาท โดยจะมีการขยายระยะเวลาการรับเงินจากเดิมกำหนดไว้ 3 เดือนต่ออีก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ถึงกันยายน 2563 

 

นอกจากนี้จะนำไปใช้สำหรับการดูแลเกษตรกร เช่นในเรื่องปัจจัยการผลิต ซึ่งจะประกาศรายละเอียด เกณฑ์และวิธีการอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังนำไปใช้ในด้านสาธารณสุขมีการกำหนดจัดงบประมาณเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งการใช้เงินในกลุ่มนี้ทั้งหมดประมาณการภายใต้พ.ร.ก. จะมีจำนวน 6 แสนล้านบาทจาก 1 ล้านล้านบาท  

2. การดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการดูแลการจ้างงานที่สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ครอบคลุมทุกกลุ่มของประชาชนในประเทศ ดูแลผู้ใช้แรงงาน รับจ้าง เกษตร ในพื้นที่ มีประชาชนจำนวนมากที่กลับพื้นที่ต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ต้องเริ่มขณะนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงระยะต่อไป เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งให้เดินหน้าต่อเป็นรากฐาน ซึ่งวงเงินนี้จำนวน 4 แสนล้านบาท 

 

คลังฉีด1ล้านล้านช่วยทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติโควิด

 

“วงเงิน 4 แสนล้านบาท ดูแลพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะวันนี้เศรษฐกิจกระทบทั้งระบบกำลังซื้อในพื้นที่หดหาย ผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางกระทบหมด จำเป็นต้องนำสภาพคล่องไปหล่อเลี้ยง สนับสนุนสร้างงานสร้างอาชีพให้มากที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้ทุกคนดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง โดยจะผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย กองทุนหมู่บ้าน ธกส. ออมสิน รวมถึงเชิญภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านการพัฒนาชุมชนเข้ามาทำงานให้ครอบคลุมมากที่สุด อย่างไรก็ตามการจ่ายชดเชยเกษตรกรที่ไม่ได้เงินชดเชย ใช้หลักของของครอบครัว ครัวเรือน ซึ่งในรายละเอียดกำลังจัดทำ โดย ธกส.กำลังดูแลว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม”

 

สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการของพ.ร.ก.กู้เงิน คือ ครม.อนุมัติเห็นชอบแล้วในหลักการ ขั้นต่อไปต้องส่งร่างพ.ร.ก.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นต้องทำต่อ เช่น ในเรื่องของการจัดทำร่างระเบียบของการใช้งบประมาณนี้ในทางปฏิบัติของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานเข้าใจว่าการดำเนินการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาททำอย่างไร 

 

จากนั้นจะนำขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศใช้ต่อไป ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าพ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายนนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นกระทรวงการคลังจะดำเนินการหาแหล่งเงินกู้สำหรับวงเงินนี้ ที่เหมาะสม โดยไม่ใช่กู้ 1 ล้านล้านบาททันทีในต้นเดือนพ.ค. ที่การกู้เงินจะเริ่มขึ้นได้

 

ขณะเดียวกันเมื่อครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ก.แล้ว สิ่งที่จะเกิดพร้อมกันคือมีคณะกลั่นกรองโครงการที่ครม.เห็นชอบแล้ว ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอ แผนงานโครงการของกระทรวง หน่วยงานต่างๆที่จะเสนอเข้ามาเพื่อพิจารณาใช้วงเงินนี้ตามวัตถุประสงค์ เมื่อกลั่นกรองแล้วจะเสนอครม.ให้ความเห็นชอบก่อนที่โครงการจะได้รับการอนุมัติใช้เงิน โดยที่สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักบริหารหนี้ จะร่วมดันดูแลกระบวนการการปฏิบัติให้คล่องตัว เพื่อโครงการอนุมัติแล้วจะได้ใช้เงินให้เร็วที่สุด

 

ส่วนการกำกับติดตามการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก. มีการกำหนดว่าจะต้องมีการรายงานการใช้จ่ายเงิน เริ่มที่คณะกรรมการกลั่นกรองจะรายงานต่อครม.เป็นระยะ ถึงความคืบหน้า โดยกฎหมายระบุว่าจะต้องรายงานต่อรัฐสภาไม่เกิน 60 วันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ หรือใน พ.ย. 63 ที่ต้องรายงานต่อรัฐสภา 

 

ส่วนสาเหตุที่ต้องกำหนดระยะเวลาการเบิกจ่าย พ.ร.ก.กู้เงินถึงเสร็จสิ้นกันยา 64 เนื่องจากการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ดำเนินการแน่นอน อีกทั้งงบประมาณปี 2564 ยังต้องใช้เวลาถึงเดือนตุลาคมถึงสามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นช่วงนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณทันที ซึ่งงบปี 2563 จะต้องกันงบออกมา แต่ยังไม่พอ แต่ยืนยันว่าอาจจะไม่ต้องกู้ถึง 1 ล้านล้านบาท 

 

คลังฉีด1ล้านล้านช่วยทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติโควิด

 

การออกพ.ก.ร.กู้เงินครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2563 และ 2564 อยู่ที่ 57% ยังไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ที่ 60% และสาเหตุที่ต้องดำเนินการอย่างนี้ เนื่องจากไม่ใช่ภาวะปกติแต่เป็นภาวะวิกฤติ ที่กระทรวงการคลัง สำนักงบ สภาพัฒน์ จะร่วมกันพิจารณาหากมีความจำเป็นต้องขยายเพดาน ก็นำเสนอต่อคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้ง แต่เรียนว่ายังไม่ถึง เพราะเป็นเรื่องของอนาคต 


นายอุตตม เปิดเผยถึงมาตรการในระยะที่ 4 ด้วยว่า อยู่ในกลุ่มงานวงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยเตรียมการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อไรที่โควิดหมดไป ก็มีความพร้อมจะต้องมีชุดมาตรการแผนงานที่ช่วยให้เศรษฐกิจให้ระบบฐานราก มีความพร้อมเดินหน้าทันทีซึ่งอยู่ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท 
 

สำหรับแผนการชำระเงินกู้ นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะดูแลว่าการชำระให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขึ้นอยู่กับว่าเรากู้เมื่อไร เป็นเงินเท่าไร เพราะสำนักบริหารหนี้ติตตามตลาดเงินอยู่แล้ว ว่าจะมีการบริหารจัดการกู้และคืนเงินเมื่อไร 

 

คลังฉีด1ล้านล้านช่วยทุกกลุ่มฝ่าวิกฤติโควิด


อย่างไรก็ตามแผนชำระเงินกู้จะมีการจัดเก็บรายได้อย่างไรนั้นก็ยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้กระทบอยู่แล้ว กระทบจีดีพีซึ่งคือรายได้ แต่เราจะดูแลด้วยชุดมาตรการให้ดีที่สุด ครอบคลุมประชาชน การจัดเก็บรายได้หวังว่าเมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไปเศรษฐกิจต้องมีความพร้อมก็จะขยายตัวอีก การจัดเก็บรายได้ก็จะเข้ามาสู่ปกติอีกครั้ง ส่วนเท่าไรนั้นต้องดูโควิดอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร 

 

สำหรับพ.ร.ก.ที่ให้ธปท.ซื้อตราสารหนี้ตัวกำหนด 4 แสนล้านบาทมาจากไหน ใช้เงินส่วนไหน ทุนสำรองหรือไม่นั้น นายอุตตม กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้ใช้ทุนสำรองของประเทศ ซึ่งธปท.ยืนยันชัดเจน เป็นเงินในระบบเศรษฐกิจที่ธปท.ดูแล สามารถนำมาใช้ได้ ปลดล็อกด้วยพ.ร.ก. หลักการของกองทุนตัวเลขที่ธปท.ประเมินร่วมกับกลต.เป็นหลัก ว่าความต้องการในตลาดแรก หมายถึงถ้าต้องมีการระดมทุนในการต่อหนี้หรือโลวโอเวอร์ เพราะสภาพคล่องไม่ปกติ เราต้องการให้ในกรณีในระบบตราสารหนี้สามารถมีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงเพียงพอ ที่ส่งผลดีกับเศรษฐกิจที่ยึดโยงกันหมด ดังนั้นมาตรการจะเน้นโลวโอเวอร์ที่มีคุณภาพก่อน ที่อาจจะเป็นรายๆไป โดยเงื่อนไขคือบริษัทนั้นต้องหาเงินมาได้เอง 50% ก่อน แล้วเงินจะเติมให้ 50% เพื่อดูแลสภาพคล่อง