‘เพื่อไทย’ แย้มหมัดเด็ด ศึกซักฟอก ‘นายกฯต้องลาออก’

02 พ.ย. 2562 | 10:40 น.

หลังเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ อุณหภูมิการเมืองจะร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศลับใบมีดเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) ช่วงเดือนธันวาคมนี้

 

โดยล็อกเป้าไว้ที่นายกรัฐมนตรี และ 3 รัฐมนตรี “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถึงกระบวนคิดและความคืบหน้าล่าสุดกับภารกิจตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล

 

“บิ๊กตู่”เป้าหลักซักฟอก

 

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงหลักคิดที่จะนำไปสู่การเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ว่า ขึ้นอยู่ข้อเท็จจริง 2 ส่วน คือ 1. การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เมื่อตรวจสอบแล้วการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ผิดพลาด ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมาย นโยบายผิดแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ขาดประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า ถ้าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นภาพรวม หรือเกิดขึ้นที่รัฐมนตรีใด ก็เข้าข่ายจะถูกอภิปรายได้

 

ประการที่ 2 กรณีที่ตรวจพบว่าการบริหารราชการแผ่นดินที่อาจจะเข้าข่ายทุจริตและประพฤติผิดมิชอบ ในกระบวนการการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเข้าข่ายทุจริตสามารถใช้ข้อเท็จจริงดังกล่าวในการยื่นอภิปรายได้

 

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้เป้าหมายบุคคลที่จะถูกยื่นอภิปรายไว้ชัดเจนว่า จากหลักคิดทั้ง 2 ข้อของพรรคฝ่ายค้าน หากพบว่ามีความผิดพลาดคนที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และยากที่จะหลุดพ้นจากการแสดงความรับผิดชอบ ก็คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ส่วนจะอภิปรายทั้งคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีนั้นเป็นไปได้ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะ เกิดได้ทั้ง 2 อย่าง

 

ถ้าเป็นทั้งคณะจะดูประสิทธิภาพในการบริหารราชการ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วหลายกระทรวงมีข้อผิดพลาดผู้รับผิดชอบอาจจะด้อยประสิทธิภาพและทำงานปล่อยปละละเลยก็จะเป็นการอภิปรายรายบุคคล

 

‘เพื่อไทย’ แย้มหมัดเด็ด ศึกซักฟอก ‘นายกฯต้องลาออก’

 

ขณะเดียวกันถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า ข้อมูลฝ่ายค้านยังไม่มีความหนักแน่นครบถ้วน ยังถือว่ารัฐบาลยังสอบผ่านในช่วงเข้ามาบริหารประเทศจนถึงขณะนี้ อาจไม่ยื่นอภิปรายก็ได้ ซึ่งต้องรอการประชุมของ 7 พรรคฝ่ายค้านก่อน

 

เล็งกระทรวงเม็ดเงินลงทุนสูง

 

แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวยํ้าว่า ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศสอดคล้องกับนโยบาย สามารถใช้จ่าย ใช้งบประมาณเกิดประโยชน์กับประชาชน ตรวจสอบไม่พบทุจริต ต่อให้บริหารประเทศไปจนครบเทอม ฝ่ายค้านก็ไม่อภิปราย แต่ในทางกลับกันถ้าตรวจสอบพบข้อมูลที่ทำบก พร่องผิดพลาด และอาจจะมีการกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ ปล่อยปละละเลยให้มีความผิดพลาด ฝ่ายค้านก็ต้องตรวจสอบด้วยการยื่นอภิปรายเช่นกัน

 

“โดยหลักการคือรัฐมนตรีท่านใดที่ดูแลงบประมาณ โครงการงบลงทุนที่มีจำนวนมาก โอกาสที่จะเกิดบกพร่องผิดพลาด และปล่อยปละละเลยให้ผิดพลาดจะมีสูงกว่ารัฐมนตรีที่กำกับส่วนเล็กๆ อย่างไรก็ดี ตรงนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จเลยทีเดียว เพราะรัฐมนตรีทุกคนมีสิทธิถูกยื่นอภิปรายเท่าเทียมกัน”

 

ส่วนที่มีชื่อผู้ที่จะถูกยื่นอภิปราย 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมนั้น เป็นการคาดเดากันเอง คนแรกเดาอย่างไรก็ถูก เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ ท่านอื่นยืนยันว่าฝ่ายค้านจะไม่ยึดว่าจะอภิปราย เพราะเป็น “แม่เหล็กเป็นตัวล่อเป้า”

 

จี้จุดอ่อนปัญหาเศรษฐกิจ

 

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงประเด็นที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจปากท้องให้ประชาชน การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการนำลงไปแก้ไขสิ่งที่ท่านทำ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจประเทศได้หรือไม่ ดำเนินกิจการใดๆ ไปสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายตามนโยบายที่แถลงหรือไม่ ถ้าทั้งหมดที่พูดไปไม่ตอบโจทย์ ก็คือการบริหารที่บกพร่องผิดพลาด และขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

 

“เราจะตรวจสอบกระทรวง ทบวง กรม ที่มีเม็ดเงินลงไป เป็นงบเงินลงทุน เมื่อนำไปใช้ความคาดหวังที่เกิดขึ้นการกระตุ้นเศรษฐกิจและความหมุนเวียนของเม็ดเงินเป็นตัวสร้างจีดีพี ดัชนีชี้วัดของเศรษฐกิจขณะนี้เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนว่าสิ่งที่ท่านทำอาจไม่ถูกต้องหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขคนว่างงาน รายได้การส่งออกที่ติดลบ ค่าเงินที่แข็งตัวขึ้น เม็ดเงินลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้แต่ที่เราเคยเป็นพระเอกคือภาคการท่องเที่ยวก็ชะลอตัวเหล่านี้ เป็นต้น”

 

ส่วนการอภิปรายครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลสั่นคลอนหรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลบริหารราชการเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ให้ฝ่ายค้านอภิปราย 10 เที่ยวก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ทางกลับกันถ้ารัฐบาลบริหารไม่ดี และสอดคล้องกับข้อมูลที่ฝ่ายค้านตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลมีความสั่นคลอนแน่นอน พร้อมยํ้าว่าจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านที่ตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์

 

“ถ้าเราตัดสินใจอภิปรายไม่ไว้วางใจ คำว่านายกฯต้องลาออกจะต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง ถ้าเราเชื่อว่าท่านบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ เราคงไม่ยื่นอภิปราย ถ้าเราอภิปรายไม่ไว้วางใจแสดงว่าเราไม่อยากให้ท่านอยู่ต่อ” แม่บ้านพรรคเพื่อไทย กล่าวทิ้งท้าย 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,519 หน้า 16 วันที่ 3 -6 พฤศจิกายน 2562

‘เพื่อไทย’ แย้มหมัดเด็ด ศึกซักฟอก ‘นายกฯต้องลาออก’