อุทธรณ์ยืนคุก50ปี“จุฑามาศ ศิริวรรณ”คดีสินบนข้ามชาติงานบางกอกฟิล์ม

08 พ.ค. 2562 | 06:41 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ศาลอุทธรณ์ยืนคุก 50 ปี “จุฑามาศ ศิริวรรณ” อดีตผู้ว่าฯ ททท. คดีรับสินบนข้ามชาติ ฮั้วประมูลจัดงานบางกอกฟิล์ม ส่วน "ลูกสาว" ได้ลดโทษเหลือคุก 40 ปี ยกเลิกคำสั่งริบเงิน 62 ล้านบาท ทนายยังขอลุ้นฎีกาหรือไม่ 

 วันนี้ (8 พ.ค.62)  ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีสินบนข้ามชาติ ที่ อัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 72 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 45 ปี บุตรสาว เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ , เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต , เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตาม พ.รบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 , 11 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนรอราคาหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 12  

อุทธรณ์ยืนคุก50ปี“จุฑามาศ ศิริวรรณ”คดีสินบนข้ามชาติงานบางกอกฟิล์ม

จากกรณีรับเงินตอบแทน สามี-ภรรยาชาวสหรัฐฯ นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2002-2007 (พ.ศ.2545-2550) มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2558 ซึ่งจำเลยทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ 

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2560 เห็นว่า การจัดจ้างโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มีการกำหนดเงื่อนไขโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2538 โดยเฉพาะโครงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2546 ไม่เป็นการจ้างบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ที่เคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถผลงานมาแล้ว 

โดยนางจุฑามาศ  คบคิดกับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน นักธุรกิจในสหรัฐฯ จัดตั้งบริษัทเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ ททท. และยังเรียกรับเงินสินบนจากนายเจอรัลด์ โดยโอนเงินไปยัง น.ส.จิตติโสภา  กับเพื่อน 59 รายการ เป็นเงิน 1,822,294 เหรียญสหรัฐ  

 

พฤติการณ์ของ นางจุฑามาศ  จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล)  มาตรา 12 และผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินฯ ให้จำคุก นางจุฑามาศ รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงตามกฎหมายแล้ว ให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี   

และจำคุก น.ส.จิตติโสภา  รวม 11 กระทง กระทงละ 4 ปีโดยจำคุกทั้งสิ้น 44 ปี ขณะที่ศาลมีคำสั่งให้ริบเงินกระทำผิด 1,822,494 เหรียญสหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย โดยเงินนั้นเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ ศาลจึงได้กำหนดมูลค่าทรัพย์ที่สั่งริบนั้น เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 62,724,776 บาท 

โดยหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วระหว่างอุทธรณ์ นางจุฑามาศ และ น.ส.จิตติโสภา ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งวันนี้ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้ง 2มาจากเรือนจำ มีผู้มาให้กำลังใจด้วย 5-6 คน 

ขณะที่ ศาลอุทธรณ์ฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว มีคำแปลคำให้การของเจ้าหน้าที่ FBI สหรัฐฯ ที่ทำการสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดีกับสามี-ภรรยาตระกูลกรีน โดยเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นตามหลักการพิจารณาคดีอาญาแล้ว ก็รับฟังได้ว่า  นางจุฑามาศ ได้สมคบโดยให้คำแนะนำกับสามี-ภรรยาตระกูลกรีนในการเข้ามาร่วมจัดงาน้ทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ในลักษณะของการฮั้วประมูล ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 
 

แต่ในส่วนของ น.ส.จิตติโสภา  นั้น ในการฟ้องของอัยการโจทก์ ไม่ได้ระบุและนำสือชัดเจนในการที่จะร่วมสนับสนุนกระทำผิดต่อการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ปี 2550 และส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีในต่างประเทศ นั้นเป็นเงินที่ได้จากการเป็นที่ปรึกษาของนายเจอรัลด์ กรีน ช่วงปี 2545 นั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากปรากฏเป็นการโอนเงินหลังจากที่นายเจอรัลด์ ได้ทำสัญญาการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแล้ว 2 สัปดาห์ และก็ไม่เคยปรากฏว่าเมื่อจำเลยจบการศึกษาปริญญาตรี จนกระทั่งมีการศึกษาต่อปริญญาโทนั้น จำเลยที่ 2 ได้ประกอบธุรกิจหรือมีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจดังกล่าวมาก่อน จนจะได้รับค่าปรึกษาจากนายเจอรับด์กรีนคิดเป็นเงินไทยกว่า 60 ล้านบาทนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น 

ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ จึงเห็นควรพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 รวม 10 กระทงจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 40 ปี ส่วน นางจุฑามาศ  คงจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 11 กระทงๆ ละ 6 ปี จำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษตามกฎหมายแล้วให้จำคุกสูงสุดเป็นเวลา 50 ปี 

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ฯ มีคำพิพากษาให้ยกคำสั่งริบทรัพย์ของศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงินที่เป็นการกระทำผิดซึ่งเป็นเงินในบัญชีต่างประเทศกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะคดีนี้อัยการโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ริบของกลางหรือเงินใดๆ ไว้ท้ายฟ้อง และบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 52 บัญญัติ ให้บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับนั้น ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อน ดังนั้นคดีนี้จึงต้องใช้บทบัญญัติกฎหมายคดีอาญาสามัญ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่นำมาตรการริบทรัพย์สินในคดีทุจริตไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ก็ตาม ตามมาตรา 31(2) , มาตรา 32(2) และมาตรา 33 วรรคหนึ่งนั้นมาใช้กับคดีนี้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ 

นายสุชาติ ชมกุล ทนายความจำเลย กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าจำเลยจะยื่นฎีกาหรือไม่ เนื่องจากต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มและกลับไปปรึกษากับคณะทำงานทนายความคดีนี้ซึ่งมีหลายคน เพื่อช่วยกันตรวจดูคำพิพากษาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง 

ด้านพนักงานอัยการ ซึ่งรับมอบหมายมาฟังคำพิพากษาศาลกล่าวเพียงว่า  คดีนี้ยังสามารถที่จะใช้สิทธิ์ยื่นฎีกาได้