ปตท.สผ. ระงับผลิตก๊าซแหล่งบงกชชั่วคราว อพยพคนหนีพายุ 'ปาบึก'

02 ม.ค. 2562 | 09:55 น.
ปตท.สผ. ระงับการผลิตก๊าซแหล่งบงกชชั่วคราว อพยพคนขึ้นฝั่งรับพายุ 'ปาบึก' ด้าน นายกฯ ยัน! รัฐบาลพร้อมรับมือ เตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจ้งว่าจากรายงานพยากรณ์อากาศนอกชายฝั่งเกี่ยวกับสถานการณ์พายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK) ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยในขณะนี้ ปตท.สผ. มีความจำเป็นที่จะต้องระงับการผลิตก๊าซฯ จาก 2 แท่นบงกชเหนือและบงกชใต้ไว้ชั่วคราว และดำเนินการส่งพนักงานที่เหลือทั้งหมดกลับขึ้นฝั่งที่ จ.สงขลา เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง

เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชเหนือและแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชใต้อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพนักงานและกระบวนการผลิตบนแท่นทั้งสองโดยตรง

อย่างไรก็ตาม แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ


แหล่งบงกช

ขณะนี้ ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2561 ปตท.สผ. ได้ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุง ส่งพนักงานส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุแล้ว

ปตท.สผ. เตรียมพร้อมแผนฉุกเฉินตามมาตรฐานสากลทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเตรียมรับมือพายุปาบึก ที่กำลังจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยในวันที่ 3-5 ม.ค. นี้ ว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการตั้งแต่ 2 วันที่ผ่านมา โดยมีการแจ้งเตือนในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องของการประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการสัญจรไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จึงขอเตือนทุกคนให้ช่วยกันเตรียมการป้องกันตนเอง และขอร้องภาคเอกชนในการใช้เรือโดยสารต่าง ๆ ที่วันนี้ได้สั่งห้ามทั้งหมดแล้ว

"ได้ย้ำเตือนในการประชุมคณะรัฐมนตรีไปอีกครั้ง ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยจะมีการประชุมเตรียมการบูรณาการทุกภาคส่วนอีกครั้ง หลังจากได้มีการสั่งการไปแล้ว ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกองทัพเรือและกองทัพบก"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คาดว่าพายุจะเข้าภาคใต้ทั้งหมดในวันที่ 3 ม.ค. ไปจนถึงวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งเดิมเป็นพายุดีเปรสชั่น และอาจจะขยายตัวรุนแรงเป็นพายุโซนร้อนซึ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ช่วงนี้อาจจะมีฝนตกชุก จึงต้องเตรียมการในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมและการแก้ไขการคมนาคม แต่หากมีปริมาณฝนมากก็อาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา เพราะเป็นภัยจากธรรมชาติ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม วันนี้รัฐบาลนี้ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการบรรเทาอุทกภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งโดยมีอะไรหลายอย่างที่ดำเนินการมาใหม่ในการบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ การช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ที่ดำเนินการทุกอย่างแต่อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

แอดฐานฯ