แก้ขาดคนเตรียมสรุปตั้ง”ตำรวจกองประจำการ”ช่วยงานโปลิศ

04 ม.ค. 2561 | 08:30 น.
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) รับข้อเสนอ สตช. สรรหากำลังพลทดแทนด้วยการให้มี “ตำรวจประจำการ” ทำหน้าที่ด้านรักษาความปลอดภัย คุมฝูงชน ออกตรวจพื้นที่และบริการประชาชน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังพล

วันนี้(4 มค.2561) เว็บไซต์ http://www.radioparliament.net เผยแพร่ว่า นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้รายงาน สถานภาพกำลังพลข้าราชการตำรวจ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ว่า มีตำแหน่งข้าราชการตำรวจ 296,315ตำแหน่ง แต่มีบุคลากรเพียง 219,564 ตำแหน่ง ยังเหลือตำแหน่งว่างอีก 76,751ตำแหน่ง ด้วยปัญหาขาดแคลนกำลังพลดังกล่าว ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ ดังนั้น สตช. มีข้อเสนอให้แก้ไขปัญหาด้วยการสรรหากำลังพลทดแทน ด้วยการให้มี “ตำรวจกองประจำการ”

org_169685017 ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาข้อเสนอเรื่อง ตำรวจกองประจำการมา 2 ครั้งแล้ว พบว่า จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยให้เรียกชื่อตำรวจประเภทนี้ว่า “ตำรวจกองประจำการ” ให้มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในอาคารสถานที่ หรือรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม หรือการควบคุมฝูงชน การลาดตระเวนการออกตรวจพื้นที่ และการบริการประชาชน ตามที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง โดยการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีข้าราชการตำรวจควบคุมและร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วยทุกครั้ง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎหมาย

นายมานิจ กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้มีตำรวจกองประจำการว่า ได้ริเริ่มมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2553 และมีการพัฒนาข้อเสนออย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้มีตำรวจกองประจำการ  และต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวมาให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ดำเนินการพร้อมกับการปฏิรูปตำรวจไปในคราวเดียวกัน สำหรับรายละเอียดการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังพลโดยให้มีตำรวจกองประจำการนั้น คณะกรรมการฯ จะมีการประชุมอีกครั้งในช่วงต้นปีนี้ และเมื่อเสร็จสิ้นการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องแล้ว จะทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับข้อเสนอในการปฏิรูปตำรวจประเด็นภาระหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งประเด็นการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจะต้องเสนอให้รัฐบาลภายในเดือนเมษายน 2561 ต่อไป
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6-15