คำพิพากษากลางคดี “ข้าวจีทูจี” ตอน 6 : วางคนชักใยผ่านสยามอินดิก้า

08 ต.ค. 2560 | 04:02 น.
ศาลชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันของ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (จำเลยที่ 10) กับการทำสัญญาตามฟ้องในคดีนี้ ซึ่งได้ความว่า บริษัท กว่างตงฯ เคยมีหนังสือถึงนายกฯ ในขณะนั้น แจ้งความประสงค์ขอซื้อข้าวจากรัฐบาล 2,000,000 ตัน โดยมอบหมายให้ นางอรวรรณ ศรัทธาสกุล เป็นผู้ประสานงาน แต่ครั้งนั้นไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น

ในขณะที่ การทำสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 นี้ บริษัท กว่างตงฯ ได้มีหนังสือถึง นายมนัส อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล หลังจากนั้น 2 วัน มีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 ก.ย. 2554 กำหนดวันนัดเจรจาและแจ้งว่า มอบหมายให้ นายรัฐนิธ โสจิระกุล (จำเลยที่ 8) เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งเวลานั้น ทำงานอยู่ที่ บริษัท คอนสแตนด์ เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่ง นางซินดี้ หรือ โจวจิ้ง เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ โดยได้ความจากอนุฯ ไต่สวน ว่า มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัญญาจีทูจี โดยบุคคลกลุ่มเดียวกันกับคดีนี้ที่อยู่ในระหว่างไต่สวนของ ป.ป.ช. โดย น.ส.ชนม์ สีเมยดง ได้ให้ถ้อยคำว่า ตนเองทำงานเลี้ยงบุตรของนางซินดี้ ซึ่งนางอรวรรณนั้นเป็นยายของเด็ก


- ได้ข้าว 1.04 ล้านตัน -
ส่วนบริษัท ห่ายหนานฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 ส.ค. 2555 ถึง รมว.พาณิชย์ ขอซื้อปลายข้าวเหนียว มอบหมายให้ น.ส.กรรณิกา เพชรสุวรรณ์ เป็นผู้ประสานงาน แต่ได้มอบอำนาจช่วงให้ผู้อื่นไปรับข้าวจากคลังของรัฐหลายแห่ง โดยไม่ปรากฏว่า บริษัท ห่ายหนานฯ มอบอำนาจให้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า น.ส.กรรณิกา นั้น เป็นพนักงานของนางอรวรรณ ทั้งยังได้ความจาก นายนิคม สินเทาว์ ผู้จัดการฝ่ายต้อนรับของโรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ที่ระบุว่า นางอรวรรณเป็นผู้จองและชำระค่าห้องพักรวมอาหารเช้า ที่ผู้แทนของบริษัท ห่ายหนานฯ เข้าพักช่วงที่มาเจรจาทำสัญญาฉบับที่ 4 นอกจากนี้ ยังพบว่า นางอรวรรณได้เปิดบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงไทย สาขารัชดาภิเษก-ห้วยขวาง โดยระบในคำขอเปิดบัญชีว่า ทำงานที่บริษัท สยามอินดิก้าฯ ด้วย

แม้ว่า น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง (จำเลยที่ 11) จะเบิกความว่า ไม่ได้รู้เห็นเรื่องนี้ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ให้เห็นว่า นางอรวรรณเป็นพนักงานบริษัท สยามอินดิก้าฯ ก็ตาม แต่หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องย่อมไม่มีเหตุผลที่ต้องระบุเช่นนั้น ทั้งยังระบุที่อยู่ได้อย่างถูกต้องอีกด้วย และเมื่อพิจารณารายการธุรกรรมทางการเงิน ก็พบว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2555 นายลิตร พอใจ (จำเลยที่ 9) ได้โอนเงิน 50 ล้านบาท เข้าบัญชีของนางอรวรรณ

ด้าน ผู้ค้าข้าว ซึ่งให้ถ้อยคำต่ออนุไต่สวนฯ ว่า ผลจากโครงการนี้ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวจากตลาดได้ แต่บริษัท สยามอินดิก้าฯ กลับสามารถส่งข้าวไปขายต่างประเทศในราคาต่ำกว่าตลาดได้มากถึง 100,000 ตัน/เดือน ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขส่งออกไปต่างประเทศของบริษัท สยามอินดิก้าฯ โดยในปี 2555-2557 ส่งออกเพิ่มขึ้น 6.4 แสนตัน, 8.4 แสนตัน และ 1.2 ล้านตัน ตามลำดับ ขณะที่ ปี 2554 ส่งออกเพียง 300,000 ตัน นอกจากนี้ ในทางไต่สวนได้ความว่า มีการนำแคชเชียร์เช็คที่ซื้อโดยเงินของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ไปชำระค่าข้าว 186 ฉบับ รวมเป็นเงินกว่า 10,566 ล้านบาท และแคชเชียรเช็คที่ซื้อโดยเงินที่ถอนจากบัญชีของกรรมการและในนามพนักงานของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท


TP14-3302-A

- “สยามอินดิก้า” พันทุกขั้นตอน -
บริษัท สยามอินดิก้าฯ ยอมรับว่า ได้รับมอบข้าวตามสัญญา 1.04 ล้านตัน เป็นเงิน 13,700 ล้านบาทเศษ แต่อ้างว่า ซื้อจาก บริษัท ไฟน์ คอนติเนนตัล เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีนางซินดี้เป็นนายหน้าในสิงคโปร์ ซื้อต่อมาจาก บริษัท กว่างตงฯ แต่บริษัท สยามอินดิก้าฯ ไม่เคยส่งสำเนาให้อนุไต่สวนฯ มาก่อน เพิ่งมากล่าวอ้างส่งชั้นพิจารณาของศาล โดยสัญญาที่กล่าวอ้างนั้นก็ทำขึ้นหลังจากที่ บริษัท กว่างตงฯ ทำสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศเพียง 5 วัน

ไม่น่าเชื่อว่า เวลากระชั้นชิดเช่นนี้ บริษัท กว่างตงฯ จะทำสัญญาขายข้าวมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ที่ซื้อจากกรมการค้าต่างประเทศให้ บริษัท ไฟน์คอนติเนนตัลฯ ได้ทัน เว้นแต่จะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันที่ร่วมวางแผนมาซื้อข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศตั้งแต่ต้น

ขณะที่ ข้อพิรุธต่าง ๆ ในสัญญา อาทิ ไม่ตกลงปริมาณที่แน่นอน ราคาข้าวแต่ละรายการที่ซื้อขายเท่ากับราคาที่กรมการค้าต่างประเทศขายให้ บริษัท กว่างตงฯ และบริษัท ห่ายหนานฯ หากเป็นดังที่อ้าง แสดงว่า บริษัท กว่างตงฯ ไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ จากการทำสัญญาซื้อขายข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งผิดปกติวิสัย

แม้ น.ส.รัตนา จะเบิกความว่า ได้จ่ายค่าบริาหารจัดการเพิ่มเติมจากข้อตกลงตามสัญญา 600-700 บาท/วัน ให้นางซินดี้ โดยโอนเงินให้ผ่านธนาคารในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ และการซื้อขายข้าวปีการผลิตใหม่ตามสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งตกลงซื้อขายข้าวเพียง 4 ชนิด หลังจากแก้สัญญาหลายครั้งเพื่อเพิ่มชนิดข้าว แต่สัญญาของ บริษัท ไฟน์ คอนติเนนตัลฯ ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2554 กลับมีข้อตกลงครอบคลุมชนิดและราคาข้าวที่มีการแก้สัญญาภายหลังจากวันดังกล่าว และครอบคลุมไปถึงปลายข้าวเหนียวตามสัญญาฉบับที่ 4 ที่เพิ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2555 แม้ว่า ชนิดข้าวตามสัญญาที่กรมการค้าต่างประเทศขายให้ บริษัท กว่างตงฯ กับตามสัญญาของ บริษัท ไฟน์ คอนติเนนตัลฯ จะไม่ตรงกันทุกชนิดทุกรายการ แต่ชนิดข้าวเกือบทั้งหมดตรงกันและขายในราคาเดียวกัน

เมื่อพิเคราะห์ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาตามฟ้อง ล้วนใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับ บริษัท สยามอินดิก้าฯ เข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนทำสัญญา ทำหน้าที่ประสานงาน เป็นผู้จองและชำระค่าใช้จ่ายที่พักโรงแรมให้ผู้แทนของ บริษัท ห่ายหนานฯ


- พนักงานยอมเป็นหุ่นเชิด -
ขณะเกิดคดีนี้ น.ส.รัตนา และ น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ (จำเลยที่ 12) เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ทั้งสองเบิกความว่า ได้รับโอนหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม ตกลงจะชำระค่าหุ้น (หุ้นละ 1,000 บาท เป็นเงินหลายสิบล้านบาท) เมื่อบริษัทมีกำไรและจ่ายเงินปันผลแล้ว เพราะมูลค่าหุ้นติดลบ เนื่องจากโรงงานยังก่อสร้างไม่เสร็จ แย้งกับข้อมูลปี 2547 ซึ่งได้รับอนุมัติสินเชื่อจาก ธ.กรุงไทยฯ เพื่อก่อสร้างโรงสี แสดงว่า บริษัท สยามอินดิก้าฯ ได้ผ่านการวิเคราะห์ถึงศักยภาพที่จะเติบโตและสร้างรายได้มาชำระหนี้คืนได้ ซึ่งจากการสำรวจและประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของ บริษัท โปร แอพไพรซัล จำกัด รวมมูลค่าที่ประเมินได้กว่า 1,927 ล้านบาท แต่จนถึงปัจจุบันทั้งสองอ้างว่า ยังไม่ได้ชำระค่าหุ้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-4

นอกจากนี้ ยังได้ความจากอดีตพนักงาน บริษัท สยามอินดิก้าฯ ซึ่งเคยทำงานอยู่กับ บริษัท เพร-ซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้งฯ กระทั่งปี 2550 นายอภิชาติ บอกว่า ประสบปัญหาการเงิน ให้มาทำกับ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ซึ่งใช้สถานที่ทำการเดิม และให้ถือหุ้นใน บริษัท สยามอินดิก้าฯ แทนด้วย โดยให้ทนายความนำใบโอนหุ้นมาให้ ลงชื่อไว้ล่วงหน้า เพื่อโอนหุ้นคืน พยานยืนยันว่า นายอภิชาติเป็นเจ้าของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ มีอำนาจตัดสินใจแต่ผู้เดียว น.ส.รัตนา เลขานุการ และ น.ส.เรืองวัน พนักงานฝ่ายบัญชี

ทั้งสองได้เปิดบัญชีในนามส่วนตัว เพื่อใช้เป็นบัญชีในกิจการหลายบัญชี มีการถอนเงินจากบัญชีของ น.ส.เรืองวัน ไปซื้อแคชเชียร์เช็ค เพื่อชำระค่าข้าวในคดีนี้ 55 ฉบับ เป็นเงินกว่า 3,752 ล้านบาท ข้อต่อสู้ที่ว่า เปิดเพื่อใช้ในกิจการของบริษัท เนื่องจากมีการแยกข้าวดีเพื่อส่งออก โดยบัญชีของ น.ส.เรืองวัน เปิดไว้รับโอนเงินจากการขายข้าวเสื่อมภายในประเทศนั้น ได้ความว่า แคชเชียร์เช็คที่มาจากเงินในบัญชี น.ส.เรืองวัน นั้น ถูกนำไปชำระค่าข้าวตามสัญญาให้กรมการค้าต่างประเทศ ข้ออ้างจึงรับฟังไม่ขึ้น

แม้ทั้งสองมีฐานะเป็นพนักงาน แต่ยอมให้นายอภิชาติเชิดในการดำเนินกิจการของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ย่อมแสดงว่า ทั้งสามมีการปรึกษาหารือและรับรู้ร่วมขบวนการนำ บริษัท กว่างตงฯ และบริษัท ห่ายหนานฯ มาซื้อขายข้าวจีทูจี โดยแอบอ้างว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ซึ่งไม่เป็นความจริงตั้งแต่ต้น


- ไม่เคยซื้อเช็คมากเท่านี้มาก่อน -
ส่วน น.ส.สุทธิดา ผลดี (จำเลยที่ 13) ข้อเท็จจริงได้ความว่า เป็นพนักงานของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ตั้งแต่ปี 2550 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2552 ได้รับโอนหุ้น บริษัท สยามอินดิก้าฯ 1 หุ้น จากนายชนกชนม์ ลิ่มเจริญ ซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ โดยไม่มีการชำระค่าหุ้น โดย น.ส.สุทธิดา ยังเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง บริษัท สิราลัย จำกัด (จำเลยที่ 20) ถือหุ้นในบริษัท 1 หุ้น ทั้งยังได้ความจาก นายพุทธพร ซิมมณี ผู้ช่วยผู้จัดการ บมจ.ไทยพาณิชย์ สาขาซอยโชคชัย 4 ว่า บริษัท สยามอินดิก้าฯ เปิดบัญชีกับธนาคาร 2 บัญชี ทำธุรกรรมจำนวนมาก จึงรู้จักผู้บริหารและพนักงานหลายคน โดย น.ส.สุทธิดา เป็นผู้ดูแลจัดการบัญชีของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ โดยจะเป็นผู้โทรศัพท์ประสานงานให้จัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ไว้ให้พนักงานมาทำธุรกรรมแทนเป็นประจำ เช่น นายสมคิด เอื้อนสุภา (จำเลยที่ 7), นายสุธี เชื่อมไธสง (จำเลยที่ 16) และนายกฤษณะ สุระมนต์ (จำเลยที่ 18) ซึ่งก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ไม่ปรากฏว่า บริษัท สยามอินดิก้าฯ มีการสั่งซื้อแคชเชียร์เช็คจำนวนมากเช่นนี้ น.ส.สุทธิดา ยังได้รับโอนหุ้นของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ จากนายชนกชนม์มาถือแทนบุคคลอื่น 1 หุ้น และถูกตั้งให้เป็นกรรมการของสยามอินดิก้าฯ อีกด้วย

แสดงว่า เป็นพนักงานที่นายอภิชาติไว้วางใจ และมีบทบาทสำคัญ เชื่อว่า น.ส.สุทธิดา ทราบความเป็นไปในกิจการและทราบดีว่า สยามอินดิก้าฯ ซื้อข้าวซึ่งมีที่มาจากสัญญาจีทูจีเป็นไปโดยไม่ชอบ เป็นการสนับสนุน นายภูมิ, นายบุญทรง, นายมนัส, นายทิฆัมพร และนายอัครพงศ์ ทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5-7 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-3