ไฟเขียวปรับปรุงร่างกม.สิ่งแวดล้อมฯเพิ่มโทษเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ

03 ต.ค. 2560 | 10:01 น.
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.(3 ตุลาคม)อนุมัติร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ...ซึ่งเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ฉบับเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ โดยในร่างฉบับนี้ได้ดำเนินการตามมาตรา 58 ประกอบมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาภายใน 240 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 นี้แล้ว

สำหรับสาระสำคัญ อาทิ ให้ขยายขอบเขตการใช้บังคับพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ  เขตไหล่ทวีป และทะเลหลวง ที่ประเทศไทยมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตราบเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงที่ทำกับต่างประเทศ   รวมถึงได้เพิ่มเติมหลักการในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน โดยให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรับขึ้นทะเบียนสมาชิก องค์กร หรือ บุคคลที่สนใจในการทำงานด้านอนุรักษ์ การสงวนและการคุ้มครอง การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

natta

ทั้งยังมีการปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อม  ซึ่งเดิมอยู่ในกระทรวงการคลังให้มาอยู่ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การดำเนินการมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น  และแหล่งที่มาของกองทุนได้ขยายกว้างขึ้นโดยมีรายได้จากการเก็บเงินค่าบริการ ค่าธรรมเนียม การพิจารณารายงานของอีไอเอ และเงินค่าปรับที่ได้จากการปรับ รวมถึงมีการปรับปรุงการใช้จ่ายเงินให้ครอบคลุมและส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกด้าน ในการย้ายกองทุนนี้ เนื่องจากมีการปรับที่มาของรายได้และรายจ่ายซึ่งตามกฎของกระทรวงการคลังถือว่าเป็นการจัดตั้งกองทุนขึ้นใหม่  ที่จะต้องผ่านคณะกรรมการกองทุนหมุนเวียนต่อไป

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ตามระเบียบผลกระทบของอีไอเอ โดยกำหนดให้ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย กรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่ใดไว้แล้ว การจัดทำรายงาน EIAจะต้องนำผลประเมิน HIA มาประกอบการจัดทำ EIA ด้วย ทั้งยังมีการกำหนดเพิ่มเติมหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อและขจัดมลพิษ อาทิ ชำระค่าธรรมเนียมในการปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ รวมถึงการวางหลักประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อชดใช้และเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วย

ทั้งยังได้ปรับปรุงบทกำหนดโทษในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษ โดยเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษจะต้องรับผิดชอบ ทั้งการชดเชยค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหายในอัตราไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง และค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานของรัฐต้องใช้ในการขจัดมลพิษและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-3