นายกฯชี้ราคายางตกต่ำ เพราะมีปริมาณมากเกินไป สั่งปรับแนวทางใช้ยางในประเทศเพิ่ม

11 ก.ค. 2560 | 11:51 น.
นายกฯระบุราคายางตกต่ำ เพราะมีปริมาณมากเกินไป สั่งทุกหน่วยงานเร่งปรับแนวทางใช้ยางในประเทศเพิ่ม กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดทำแผน-งบประมาณ ที่ ก.เกษตรฯ 12 ก.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป โดยพบว่า มีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรควรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลงราคายางก็คงไม่สามารถขยับไปมากกว่านี้ได้

2-849-namyang-1-768x427 ส่วนกรณีที่ต้องการให้ยางมีราคาถึงกิโลกรัมละ 70 บาท ต้องพิจารณาจากปริมาณยางว่า มีมากเพียงใด เพราะหากมียางทั้งในสต็อกและในตลาดโลกคงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ราคาสูงขึ้น และรัฐบาลคงไม่สามารถนำงบประมาณไปซื้อยางมาเก็บไว้ได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งยังมียางอยู่ในสต็อกที่ยังไม่ขายออกไป

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหา เพราะสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่างๆนำยางไปใช้งานได้ โดยเบื้องต้นให้ทางทหารช่างนำยางไปใช้ในการทำถนนที่ขณะนี้สามารถเพิ่มสัดส่วนได้ถึง 15% ซึ่งก็จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆด้วย นอกจากนั้นยังต้องเพิ่มการใช้ประโยชน์ในส่วนของสาธารณสุข กีฬา แต่ต้องจัดทำแผนงานดำเนินงานและเพิ่มงบประมาณเช่นเดียวกัน  ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะมีการหารืออีกครั้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันพรุ่งนี้

7f2d418a315f90b2d6de2885bcae7bd4-2 ส่วนความร่วมมือในการแก้ปัญหาร่วมกันของ 3 ประเทศ ที่ไทยได้ส่งตัวแทนไปพูดคุยนั้น  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมมองเห็นว่าการทำให้ราคายางสูงขึ้นนั้นทำได้ยาก เป็นผลจากปริมาณยางของไทยมีมากเกินไป ในขณะที่ทั้ง 3 ประเทศได้ปรับลดพื้นที่ปลูกยางของตนเองลงกว่าร้อยละ 50  รัฐบาลจึงต้องปรับปริมาณการผลิตยางของไทยให้เหมาะกับทั้ง 3 ประเทศ และอีกปัญหาหนึ่งคือการที่ 3 ประเทศมองว่า เสถียรภาพทางการเมืองมีผลต่อราคายางพารา โดยเฉพาะกับตลาดการซื้อขายล่วงหน้า จึงขออย่าให้มีการเคลื่อนไหวกดดันในขณะนี้ และสิ่งสำคัญนอกจากมาตการช่วยเหลือแล้วเกษตรกรต้องช่วยเหลือตัวเองและร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการที่อนุมัติมา เพราะสิ่งที่พยายามทำคือการแก้ไขทั้งระบบ โดยไมใช้วิธีอุดหนุนที่เป็นการแก้ปัญหาปลายทางเพียงอย่างเดียว