ปรองดองภาคปชช.สะท้อนภาพรวมศก. ต้องลดเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ชนบท

02 ก.ค. 2560 | 09:24 น.
 

ปรองดองภาคประชาชน สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม ชี้ จำเป็นต้องร่วมกันปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างโอกาสและความเท่าเทียม เพื่อประโยชน์และไม่ให้เป็นเงื่อนไขทางการเมือง

2 ก.ค.60 - พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เปิดเผยถึง ผลการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสะท้อน ข้อคิดเห็นและมุมมองของการสร้างความสามัคคีปรองดอง ในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่ผ่านมาว่า  สำหรับด้านเศรษฐกิจและสังคมประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและกล่าวถึงมาก โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตและการกินดีอยู่ดีของประชาชนมองว่า หากไม่ได้รับการดูแลหรือปรับปรุงให้เท่าเทียมเป็นธรรม จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การแบ่งฝ่ายและความขัดแย้งในอนาคต เช่น ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้การจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ ผลกระทบจากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมทั้งความไม่เท่าเทียมด้านสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้แก่ประชาชน เช่นการกระจายรายได้ระหว่างประชาชนในสังคมเมืองกับสังคมชนบทสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้การรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไปทำให้บางนโยบายไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน

[caption id="attachment_173184" align="aligncenter" width="503"] พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์[/caption]

“ด้านเศรษฐกิจประชาชนมีความเห็นร่วมกันว่า รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมความรู้และกระจายรายได้สู่ชนบท ด้วยการส่งเสริมการเกษตรอุตสาหกรรมและพัฒนาการแข่งขันผ่านนวัตกรรมมากให้ขึ้น  เพิ่มศักยภาพการผลิต ลดต้นทุน สร้างรายได้ สร้างโอกาสทางอาชีพให้คนในท้องถิ่น สนับสนุนแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยควบคุมต้นทุนทางการเกษตร หาตลาดใหม่ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วม ระหว่างเอกชนและประชาชนให้มากขึ้น พร้อมทั้งเข้ามาสนับสนุนจัดการด้านการตลาดและระบบขนส่ง ให้เอื้อต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ  ขณะเดียวกัน ได้เสนอการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ให้สามารถกระจายความเท่าเทียมและเสริมความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจฐานราก โดยปรับระบบจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ให้ความสำคัญกับการขยายโอกาสด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยใช้ระบบสหกรณ์หรือการรวมกลุ่ม ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ”

ขณะที่ด้านสังคม มีความเห็นร่วมกันว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น โดยรัฐควรเปิดกว้าง รับฟังและให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจและแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น  สร้างความไว้ใจ เชื่อใจและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  ขณะเดียวกัน ควรเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน ให้อบอุ่น แน่นแฟ้นและเกื้อหนุนจุนเจือกัน   ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  โดยใช้กีฬาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพประชาชนควบคู่กับการส่งเสริมให้เยาวชนมีจิตสำนึกสาธารณะและรู้หน้าที่ตนเพื่อสังคม กระจายความเท่าเทียมด้านสังคมด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมกับทุกฝ่ายไม่เลือกปฏิบัติ เคารพในหลัก สิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกระดับ ปรับปรุงภาคบริการ สวัสดิการและการเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน  รวมทั้งส่งเสริมให้มีประชาคมระดับต่างๆในการพูดคุยคลี่คลายปัญหาและความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยรัฐเข้าไปสนับสนุนความเป็นรูปธรรม เพื่อมิให้ถูกใช้เป็นเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ทางการเมือง  ทั้งนี้ จำเป็นต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

ทั้งนี้ ประชาชนคาดหวังต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรต่อเนื่องไปยังภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการเสริมสร้างความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคลและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การปรับตัวของสังคม เพื่อคลี่คลายปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นรูปธรรมต่อไป