การบังคับใช้กฎหมายอ่อน-ไร้ประสิทธิภาพ "อนุสรณ์" ชี้ลักลอบเข้าเมืองจะก่อให้เกิดโควิดระลอกสี่

06 มิ.ย. 2564 | 13:00 น.

อนุสรณ์เผยเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอและเปราะบาง ห่วงไทยเกิดโควิดระลอกสี่จากการบังคับใช้กฎหมายอ่อนและไร้ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการลับลอบเข้าเมือง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า แม้เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกจากการรณรงค์วัคซีนเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวก็มีแนวโน้มที่จะไม่สม่ำเสมอและเปราะบาง ในส่วนของไทยนั้น มีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดในระลอกสี่ได้เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอและความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน 
    การล้มละลายของกิจการและการว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าการแพร่ระบาดระลอกสาม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยทางสังคมและวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ ฉะนั้น รัฐบาลต้องมุ่งไปที่มาตรการรองรับกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจและผู้ว่างงาน และต้องมีมาตรกรการเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ต่างจังหวัด สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมและแปรรูปอาหารชดเชยงานในภาคบริการท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง ประเมินในเบื้องต้น ประเทศไทยน่าจะตกอันดับลงมาจากประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง มาเป็น ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำได้หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงปรับตัวติดลบต่อเนื่องอีกหลายปี 
    ผลกระทบต่อเนื่องของการว่างงานและการสูญเสียรายได้จำนวนมากอาจอยู่กับเราอีกหลายปี อัตราการสูญเสียรายได้เฉลี่ยและอัตราสูญเสียชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยน่าจะไม่ต่ำกว่า 20-30% ผลกระทบของการไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระลอกสี่จะทำให้เกิดการสูญเสียสุขภาพ ความไม่มั่นใจต่อวัคซีน ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มสูงขึ้น ศักยภาพทางเศรษฐกิจถดถอยลง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอย่างชัดเจน ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมไทยที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกสี่ด้วยการฉีดวัคซีน ปฏิบัติตามมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และในที่สาธารณะ 
    อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนและการบริหารจัดการฉีดวัคซีนดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังการระดมฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายนแล้ว ควรรีบคลายล็อกดาวน์ในกิจการต่างๆทันที หากไม่มีการคลายล็อคดาวน์ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้ จะมีกิจการและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องปิดตัวอีกมาก และจะตามมาด้วยปัญหาการว่างงาน ล่าสุด รายงานวิจัยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดว่าจะมีผู้ว่างงานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคนในปี พ.ศ. 2565 ILO เปิดเผยการคาดการณ์ว่า การว่างงานทั่วโลกจะสูงถึง 205 ล้านคนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 187 ล้านคน ในปี 2562ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดต่อตลาดแรงงานจะลากยาวไปจนถึงปลายปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งทำให้ คนยากจนทั่วโลกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ความพยายามในการขจัดความยากจนในประเทศต่างๆในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ถูกหักล้างลงและถอยหลังกลับไปอย่างน้อย 5 ปี 

อนุสรณ์ ธรรมใจ
    ILO ระบุในรายงาน World Employment and Social Outlook: Trends 2021 หรือ WESO Trends ว่า การจ้างงานทั่วโลกจะฟื้นตัวเร็วขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แต่ก็มีแนวโน้มว่าการฟื้นตัวจะไม่เท่าเทียม สภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ และมีสภาวะการทำงานต่ำระดับจำนวนมาก ปัญหาของการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน นอกเหนือไปจากขีดความสามารถที่จำกัดของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ภาวะตกต่ำเศรษฐกิจและความซบเซาของตลาดแรงงานลากยาว  นอกจากนี้ ในรายงานวิจัยล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ได้แก่ ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ยุโรป และเอเชียกลาง ล้วนฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยมีการสูญเสียชั่วโมงทำงานประมาณเกิน 8% ในไตรมาสแรกและ 6% ในไตรมาสที่สองซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 4.8 และ 4.4% ตามลำดับอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2562 คนงานที่ถูกจัดประเภทเป็น “คนจน” หรือ “ยากจนสุดขีด” เพิ่มขึ้น 108 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งหมายความว่าพวกเขาและครอบครัวของพวกเขาใช้ชีวิตด้วยเงินที่ต่ำกว่า 3.20 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน
    "การที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับ วัคซีนซิโนเวค (Sinivac)ในฐานะวัคซีนฉุกเฉินทำให้ความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการฉีดวัคซีนมีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะทำให้ไทย สามารถเปิดประเทศได้ภายในปลายปีนี้"
    อย่างไรก็ตาม การผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซน์ (Siam Bioscience) ที่ได้มาตรฐานสูงจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและไบโอเทคโนโลยีในอนาคตของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตยาหรือวัคซีนภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาของบรรษัทข้ามชาติย่อมมีข้อจำกัด ในอนาคตประเทศไทยควรมีบริษัทที่สามารถผลิตวัคซีนภายใต้ทรัพย์สินปัญญาของประเทศไทยเอง ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนจะได้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทยาและวัคซีนข้ามชาติมากเกินไป 
    นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการลงทุนศึกษาวิจัย “สมุนไพรไทย” ไม่ว่าจะเป็น สมุนไพรฟ้าทะลายโจร สมุนไพรกระชาย เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านป้องกันและรักษาโรค เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยรัฐบาลสามารถส่งเสริมการศึกษาวิจัย สร้างนวัตกรรมจากสมุนไพรไทยโดยทำโครงการสี่ประสาน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง หนึ่ง องค์การอนามัยโลก สอง หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น สาม มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆในประเทศและต่างประเทศ สี่ บริษัทยาทั้งในและต่างประเทศ การวิจัยสมุนไพรไทยก็จะไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนไทยแต่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยรวม การบริหารทรัพย์สินทางปัญญาก็ให้เน้นไปเพื่อสาธารณประโยชน์มากกว่าการสร้างแรงจูงใจทางธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์   
    ทั้งนี้ แอสตราเซเนกาโดยสยามไบโอไซน์ จะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดอุบัติใหม่ในอนาคตและผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และ โควต้า 65 ล้านโดสของไทยนั้น บริษัทสยามไบโอไซน์ควรวางแผนทำวิจัยเพิ่มเติมร่วมกับบริษัทแอสตาเซเนกาเพื่อพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) สำหรับเชื้อกลายพันธุ์ด้วยและปรับการผลิตจากโควต้า 65 ล้านโดสให้เป็นวัคซีนสำหรับต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ในอนาคต 
    อีกทั้งไทยยังจะสามารถส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งสยามไบโอไซน์ควรคิดค่าวัคซีนในราคาถูกพิเศษสำหรับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศที่ “ไทย” ต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว เช่น ลาว เขมร พม่า ส่วนความวิตกกังวลจาก กรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ของแอสตราเซนเนกา หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) สรุปว่า เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในอัตรา 2-4 ต่อล้านการฉีด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีน โดยมีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก อัตราการเกิดลิ่มเลือกยังแปรผันกับเชื้อชาติและวิถีชีวิตของประชาชนด้วย โดยประเทศไทยและประเทศในทวีปเอเชีย มีอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าประเทศในยุโรป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :