สรุป3 เคส 'เสียชีวิต'แพ้วัคซีนโควิด สปสช.เคาะจ่ายรายละ 4 แสนบาท

06 มิ.ย. 2564 | 02:25 น.

เยียวยา'แพ้วัคซีนโควิด'กรณีเสียชีวิต คืบหน้าสปสช.เคาะจ่ายแล้ว 3 ราย ย้ำหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีน สามารถยื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปี รัฐพร้อมเยียวยาสูงสุดรายละ 4 แสนบาท 

 

ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สปสช.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้งว่า ระบบดังกล่าวเป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น คำว่าเบื้องต้นหมายถึงไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตแต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช.

"ขณะนี้มีผู้ยื่นขอเข้ามา 344 ราย และคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตพื้นที่มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว 239 ราย ไม่จ่าย 44 ราย รอข้อมูล 61 ราย โดยการช่วยเหลือขณะนี้เป็นเงิน 3,016,700 บาท และมีกรณีที่เสียชีวิตที่คณะอนุกรรมการฯมีมติจ่ายเงินช่วยเหลือขณะนี้ 4 ราย คือ ที่ จ.ปทุมธานี 1 ราย จ.แพร่ 1 ราย จ.สงขลา 1 ราย และ จ.ตาก 1 ราย" เลขาธิการ สปสช. กล่าว.

ความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิด  ซึ่งสปสช.ได้รายงานออกมาแล้ว 3 ราย  "ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลรายละเอียดมีดังนี้

1.พื้นที่สปสช.เขต 4 สระบุรี  ซึ่งรับผิดชอบ 8 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง และนครนายก  

ผู้เสียชีวิตคือ นายสมชาย ม่วงวัง อายุ 50 ปี รับวัคซีนโควิด-19 ที่จังหวัดปทุมธานี คณะอนุกรรมการพิจารณามีความเห็นว่าได้รับความเสียหาย เป็นอาการที่เกิดหลังจากการรับวัคซีน มีอาการแน่นหน้าอกตลอด และเสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน 5 วัน และผู้ได้รับผลกระทบเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ดูแลบิดา มารดา และเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว จึงลงมติเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท โดย สปสช.ได้โอนเงินเข้าบัญชีให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้วคือนายสถาพร ม่วงวัง บุตรชาย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564

2.พื้นที่สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ 

ผู้เสียชีวิต คือนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า อ.เมืองแพร่ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ต่อมาคืนวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน นำส่งตัว รพ.แพร่ และต่อมาได้เสียชีวิตลง  

ภรรยาผู้เสียชีวิต นางเนตรนภา เย็นจิตร กล่าวว่า หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามียังคงทำงานตามปกติทั้งในวันที่รับการฉีดและวันรุ่งขึ้น โดยในวันเกิดเหตุสามีได้เข้านอนประมาณ 3 ทุ่ม และเกิดอาการหายใจติดขัด จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ยื่นคำร้องฯ ก่อนที่คณะอนุกรรมวินิจฉัยคำร้องฯระดับพื้นที่จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 

นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ได้มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กรณีของนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า จ.แพร่ ซึ่งเสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเต็มอัตราในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรที่กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 400,000 บาท โดย สปสช.จะเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็วภายใน 5 วัน

ด้าน ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ ระดับเขตพื้นที่ เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตภายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของนายอุดร เย็นจิตรนั้น ตามข้อมูลผู้เสียชีวิตได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ต่อมาตอนกลางคืนวันที่ 18 พฤษภาคม มีอาการหายใจผิดปกติ ถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน 

“คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องหรือเป็นผลมาจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการสำคัญของการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ของ สปสช.อยู่แล้ว ที่มุ่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดหรือผลพิสูจน์ทางการแพทย์” ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการฯในครั้งนี้ ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 รวม 23 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 475,500 บาท นอกจากเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีการเสียชีวิตของนายอุดร เย็นจิตร จำนวน 400,000 บาทแล้ว  
ที่ผ่านมาเขต 1 เชียงใหม่ได้ประชุมไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 19 และ 28 พฤษภาคม และวันที่ 4 มิถุนายน รวมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไป 100 ราย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปจำนวน 717,500 บาท

3.พื้นที่สปสช. เขต 12 สงขลา 

ผู้เสียชีวิต ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในช่วง 30 นาทีแรก สองวันถัดมาคือในวันที่ 16 พฤษภาคม2564 เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กน้อย ถัดจากนั้นอีก 3 วัน คือวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เกิดอาการวูบ จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา จนกระทั่งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหมดสติในวันที่ 27 พฤษภาคม2564 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่ เขต 12 สงขลา ได้ร่วมกันพิจารณาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันที่จะอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน จ.สงขลา เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท

"กรณีนี้ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่จากเจตนารมณ์ของประกาศที่ตั้งใจบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทายาทหรือผู้อุปการะ โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นเสาหลักของครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติจ่ายเงินจำนวน 4 แสนบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว"ทพ.วิรัตน์ กล่าว

อนึ่งการพิจารณาการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหาย จากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  ผ่านสปสช.เขต 12 สงขลา แล้วจำนวน 10 ราย ผลการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 8 ราย รวมเป็นเงิน 537,000 บาท เป็นอาการเจ็บป่วยปานกลาง จำนวน 1 ราย เป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (400,000 บาท)

ทั้งนีี้หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง