แก้วิกฤตโควิด ปัญหาอยู่ตรงไหน ไปต่ออย่างไรดี (มีคลิป)

18 พ.ค. 2564 | 06:14 น.
อัพเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 11:45 น.

"เกษมสันต์ วีระกุล" นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นการแก้วิกฤตโควิด ชี้รัฐต้องตั้งเป้าหมายให้ชัด ฟังอย่างรอบด้าน สื่อสารในภาวะวิกฤติให้ได้

"เกษมสันต์ วีระกุล" นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ News Room ของฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับประเด็นการแก้วิกฤตโควิดในประเทศไทย ปัญหาอยู่ตรงไหน และไปต่ออย่างไร โดยสรุปได้ดังนี้ 

1.ตั้งเป้าหมายให้ชัด 

“เวลาเราจะแก้ปัญหาจะต้องตั้งโจทย์ความสำเร็จว่าคืออะไร รัฐบาล หรือ ศบค.บอกว่าความสำเร็จครั้งนี้คืออะไร จะปรับให้ยอดผู้ติดเชื้อหลือศูนย์อย่างเดียวหรือจะเอาเศรษฐกิจด้วย คุมโควิดได้แล้วคนไม่อดตายใช่ไหม เป้าต้องชัดเพราะถ้าไม่ชัดการแก้ปัญหาจะต่างกัน วันนี้มองจากข้างนอกเข้าไปเราไม่ได้อยู่ใน ศบค. เห็นได้ชัดว่าวันนี้รัฐบาลมุ่งเป้าเอาตัวเลขการติดโควิดเป็นหลัก เศรษฐกิจตายมากมาย ธุรกิจตายกันหมด เอะอะปิดพื้นที่ไม่มีเหตุผลที่มีอย่างเดียวคือป้องกันโควิด ป้องกันประชาชนการ์ดตก อย่าลืมว่าก่อนตัดสินใจอะไรย่อมมีผลลัพธ์ตามมาเสมอเพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องตั้งเป้าชัดเจนว่าจะเอาอะไรกันเเน่”

2.ฟังให้รอบด้าน เช็คข้อมูลให้ถ้วน

นอกจาการตั้งเป้าให้ชัดเพื่อก่อนที่จะแก้ปัญหาโควิด ในการตัดสินใจจะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบกับภาพรวม โดยเฉพาะการออกนโยบายต่างๆ  รัฐบาลต้องต้องฟังความเห็นให้รอบด้านและเช็คข้อมูลให้ครบถ้วน 
 

“ฟังให้รอบ เช็คข้อมูลให้ถ้วน ไม่ใช่เฉพาะฟังแค่ด้านสาธารณสุขและความมั่นคงเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจและอื่นๆด้วย วันนี้ดูเมือนว่าภาครัฐยึดสาธารณสุขและความมั่นคงเป็นหลัก เเต่การสื่อสารกับภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผมคิดว่ามีน้อยเกินไปเพราะฉะนั้น มาตรการที่ออกมามันก็ดูเมือนว่าเราตั้งเป้าเรื่องตัวเลขผู้ติดโควิดเพียงอย่างเดียว วันนี้คนที่นำ ศบค.คือฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายความมั่นคงเวลาคิดเขาก็คิดถึงแต่ความมั่นคงเป็นหลัก ต้องฟังคนหลายภาคส่วนมากขึ้นต้องยอมรับข้อมูลที่แตกต่างจากตัวเองมากขึ้นต้องยอมรับว่าการจัดการของตัวเองนั้นไม่มีประสิทธิภาพมากพอ” 

3.การสื่อสารในภาวะวิกฤต 

“ผมว่าจำเป็นและสำคัญเพราะการสื่อสาร หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องทำให้ประชาชนหรือสาธารณชนเข้าใจว่าว่ารัฐบาลจัดการกับวิกฤตโควิดถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่รัฐบาลจัดการได้ถูกต้องจริงๆเสียอีก เพราะว่าถ้าประชาชนคิดว่ารัฐบาลมาถูกทาง จัดการถูกทาง ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมสนับสนุน จะเห็นพ้อง แต่วันนี้ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจัดการไม่ถูกต้อง ของจริงจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เราไม่ทราบ ไม่มีใครทราบ แต่วันนี้เราสัมผัสได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดว่ารัฐบาลจัดการไม่ถูกต้อง การมีส่วนร่วมก็เลยน้อย เฟคนิวส์เกิดขึ้นมากมาย ยิ่งกว่าอื่นใดวันนี้รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีการคิดและเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการสื่อสารอย่างเร่งด่วนประชาชนจะได้กลับมาร่วมมือกันกับรัฐบาลเต็มที่”
 

นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างการแก้ไขสถานการณ์โควิดในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ จีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย 

“อังกฤษเมื่อพบว่าวิธีที่ทำอยู่ล้มเหลวก็รีบเปลี่ยนวิธีการทันที เช่นกรณีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสมาส อังกฤษก็รีบฉีดวัคซีนและประกาศล็อกดาวน์ทันที และก่อนที่จะทำการผ่อนมาตรการต่างๆ อังกฤษยังได้ทำการทดลองก่อน เช่น นำนักวิทยาศาสตรมาทดลองจัดการประชุมสัมนา ก่อนเข้าก็จะต้องตรวจโควิดก่อน มีการติดกล้องวงจรปิดเพื่อดูพฤติกรรมของคนที่มาร่วมงาน ดูว่าสถานที่จัดงานเหมาะสม อากาศถ่ายเทไหม ทั้งหมดเพื่อดูว่าจะระบาดหรือไม่ระบาด นอกากนี้ยังทดลองให้คนไปดูฟุตบอลก่อนที่จะมีนัดแข่งสำคัญที่ผ่านมา มีตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ รองรับผลตรวจผลวัด จึงจะเปิดประเทศได้ นี่คือสิ่งที่ต่างประเทศทำกัน ในบางประเทศใช้บิ๊กดาต้ามาช่วย ใช้ AI มาช่วย เช่น จีน ไต้หวัน” 

ส่วนการให้ walk in ฉีดวัคซีน ที่จะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ว่า หลายประเทศมีการเปิดให้ประชาชน walk in ฉีดวัคซีน ที่เป็นระบบ

“วอล์คอินเนี่ยผมกลัวจริงๆแค่ว่าจะวอล์คอินเมื่อไหร่ อย่างไรไรก็พูดไม่ตรงกันเเล้ว ถามใหม่ว่าการฉีดวัคซีนวันนี้ เรามีอยู่เท่าไหร่ จะฉีดให้ใครกันแน่ เพราะการฉีดวัคซีนในต่างประเทศมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว อย่างชิลีเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนเร็วที่สุดในโลกอีกหนึ่งประเทศ แต่ฉีดแล้วป้องกันไม่ได้ มีการระบาดรอบสอง รอบสาม อิสราเอลฉีดเร็วและทำได้ดี เราศึกษาและตกลงกันไหมว่าจะเอายังไงจะฉีดเพื่ออะไร"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งฉีดวัคซีนโควิดในกทม.ให้ได้ 5 ล้านคน ภายในก.ค.64  

หมอระวี ค้าน"วอล์คอินฉีดวัคซีน" เน้นกลุ่มเป้าหมายก่อน

เปิดผลวิจัย AstraZeneca หมอเฉลิมชัยชี้พบปัญหาลิ่มเลือดในคนเอเซียน้อยกว่ายุโรป 11 เท่า