นำร่องเปิด2นิคม"สมุทรสาคร"ฉีดวัคซีนในโรงงาน

16 พ.ค. 2564 | 03:25 น.

ประเดิมแห่งแรก"สมุทรสาครโมเดล" นำร่องฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ     2 นิคมฯ "สมุทรสาคร-สินสาคร"เปิดพื้นที่ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน รองรับแรงงานกว่า 30,000 คนในนิคม และประชาชน-โรงงานโดยรอบ  

 

"สมุทรสาครโมเดล" นำร่องฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ    แห่งแรกของไทย  2 นิคมฯ "สมุทรสาคร-สินสาคร"จัดเตรียมพื้นที่ให้ตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน รองรับแรงงานกว่า 30,000 คนในนิคม พร้อมบริการโรงงานและประชาชนโดยรอบด้วย เพื่อให้สมุทรสาครฉีดวัคซีนทั่วถึงทุกพื้นที่เร็วที่สุด ตามนโยบาย 3ท.
 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 14 พ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ (401) ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร โดยคราวนี้มีนายเฉลิมพล เนียมสกุล แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และนายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วม 

นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร หารือหอการค้า-สภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาคร ถึงความร่วมมือการเพิ่มจุดฉีดวัคซีน
นายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯสมุทรสาคร แถลงว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อหารือถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขยายจุดบริการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ให้เร็วที่สุด โดยจังหวัดสมุทรสาครได้จัดเตรียมพื้นที่ให้บริการวัคซีน 17 แห่งทั่วจังหวัด และด้วยความอนุเคราะห์จากทางนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ให้ตั้งจุดบริการฉีดวัคซีนแก่แรงงานภายในนิคมฯ ทั้ง 2  แห่ง ซึ่งมีพนักงานรวมกันประมาณกว่า 30,000 คน 
   

"การที่ภาคเอกชนอนุเคราะห์พื้นที่ เพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม เป็นการทำงานเชิงรุก ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นผลดีต่อจังหวัด และเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งจะใช้นโยบาย “ท.ท.ท.” บรรลุผล ประกอบด้วย  
    1."ท-โทรศัพท์" คือ ศูนย์รับแจ้งทางโทรศัพท์ หรือคอลล์ เซ็นเตอร์ ที่จังหวัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนจองฉีดวัคซีน 
    2. "ท-ทัศนคติ" สร้างทัศนคติต่อวัคซีนที่ถูกต้อง เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนจำนวนมาก และ
    3. “ท.-ทั่วทุกพื้นที่” ประชาชนชาวสมุทรสาครจะต้องได้รับการดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานส.อ.ท.และคณะ   ได้เข้าหารือกับนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้องรับรอง ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ถึงแนวทางการสนับสนุนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาครัฐใช้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่  และเพื่อให้จังหวัดสมุทรสาคร เป็นโมเดลนำร่องการฉีดวัคซีนให้แรงงานในสถานประกอบการเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากมีความพร้อม โดยกำหนดให้นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร  ซึ่งมีแรงงานรวมประมาณ  30,000 คน ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร  
ด้านนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร  เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  การดำเนินการไม่ได้จำกัดเฉพาะแรงงานใน 2 นิคมฯดังกล่าวเท่านั้น แต่เปิดบริการให้แก่โรงงานและประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงด้วย ซึ่งทางส.อ.ท.สมุทรสาคร ได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร ให้เป็นหน่วยงานผู้ดำเนินการในการฉีดวัคซีนในนิคมฯทั้ง 2 แห่ง 

ทั้งนี้ ให้โรงงานแต่ละแห่งนัดหมายจองคิวมาทางโทรศัพท์  ส่วนประชาชนให้นัดหมายจองคิวผ่านคอลเซ็นเตอร์ หรือแอปพลิเคชั่น  คาดจะเริ่มฉีดวัคซีนได้ในช่วงต้นเดือนมิย. 2564  เพื่อฉีดให้ได้เร็วที่สุดและมากที่สุด  โดยจะฉีดวัคซีนให้ทั้งคนในวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุที่ตกค้างจากการแจ้งจองคิวลงทะเบียนที่ผ่านมา  และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า  18  ปี  ทั้งนี้ จะฉีดให้กับแรงงานไทยก่อน  ถัดไปเป็นแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ต้องได้รับการฉีดวัคซีน  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในจังหวัดสมุทรสาคร  ซึ่งจะได้ผลต้องฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 70% ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด

“แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสินสาครมีประมาณ  10,000 กว่าคน  และแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร มีประมาณ  20,000  กว่าคน  แม้การฉีดวัคซีนจะทำเหมือนกันทั่วประเทศ  แต่เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานเยอะมาก  จึงควรมีรูปแบบการจัดการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่  ทางผู้ประกอบการจึงประสานกับทางราชการ ให้ฉีดวัคซีนเป็นหมู่  โดยในวันพุธที่ 19 พ.ค. 2564นี้  ทางผู้เกี่ยวข้องจะนัดไปดูสถานที่  ซึ่งทางนิคมฯ  ทั้ง  2  แห่งจะเป็นผู้จัดเตรียมและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในเรื่องสถานที่ให้  ส่วนทางราชการและผู้เกี่ยวข้อง จะได้วางระบบดำเนินการเรื่องการจัดระเบียบ-จัดคิว  เพื่อคนงานของแต่ละโรงงานจะได้ไม่ต้องมารอคิวกันนาน  ทั้งจะได้ใช้พื้นที่หน้างานน้อยลงและไม่แออัด”  

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า  เบื้องต้นการดำเนินการฉีดวัคซีนให้โรงงานอุตสาหกรรม  จะนำร่องที่ 2 นิคมฯ นี้ก่อน  ส่วนโรงงานในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่สมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ  ทำให้ยังไม่มีข้อมูล  จึงอาจต้องดำเนินการในลำดับต่อไป  ทั้งนี้ เพราะข้อจำกัดก็คือเรื่องของทีมแพทย์และพยาบาลที่จะไปดำเนินการให้  
 

นำร่องเปิด2นิคม"สมุทรสาคร"ฉีดวัคซีนในโรงงาน

ส่วนการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานต่างด้าว ทั้งที่คนไทยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนนั้น ผู้ว่าฯวีระศักดิ์ กล่าวว่า  การฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องจำเป็น  เพราะเหมือนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการการแพร่เชื้อเข้ามาถึงคนไทย  จึงถือเป็นการป้องกันโรคให้กับคนไทย และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นด้วย  ซึ่งขณะนี้จะฉีดวัคซีนให้กับคนไทยฟรี  แต่สำหรับแรงงานต่างด้าวจะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งเรียกเก็บจากตัวแรงงานต่างด้าวเองหรือนายจ้างผู้เกี่ยวข้อง


ต่อกรณีที่จังหวัดสมุทรสาคร จะจัดหาวัคซีนตัวใหม่มาฉีดให้แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า  18  ปี ได้เป็นจังหวัดแรก ๆ อีกหรือไม่  นายวีระศักดิ์   กล่าวว่า  ตนคิดว่าจังหวัดสมุทรสาคร ควรยังคงสภาพเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม  และเป็นจังหวัดในเขตพื้นที่ปริมณฑล ซึ่งควรฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป็นลำดับแรก ๆ ของประเทศไทย  โดยการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า  18  ปี  จะเริ่มประมาณต้นเดือนมิถุนายนนี้  

กรณีมีข่าวว่าหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม จังหวัดสมุรสาคร จะแบนกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวนั้น นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า  หอการค้าสมุทรสาคร ไม่ถึงกับใช้วิธีที่รุนแรงดังกล่าว  แต่จะใช้การรณรงค์เป็นหลัก โดยทางภาคเอกชนสมุทรสาคร จะใช้เครื่องมือสื่อสารไปถึงผู้ประกอบการ ใน 2 ประเด็นสำคัญ  คือ  1.ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย  2.แจ้งถึงผู้ประกอบการทุกรายให้ทราบถึงบทลงโทษ และการลงโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมายใช้แรงงานเถื่อน ซึ่งมีอัตราโทษสูง

นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล ประธานคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง