'รสนา' ตีแผ่ มหากาพย์ 60 ปี ชุมชนคลองเตย

04 มี.ค. 2564 | 01:40 น.

อดีต ส.ว. ดัง จี้รัฐดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนขั้นพื้นฐาน เผยปมดราม่า ชุมชนคลองเตยรุกที่ไร้ไฟ คือ มหากาพย์ความขัดแย้ง-เหลื่อมล้ำ 60 ปี ผลพ่วงของการพัฒนากรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความเห็น ปมดราม่า พิมรี่พายติดตั้งไฟฟ้าโซล่าให้กับชุมชนคลองเตย ในหัวข้อ  อย่าทิ้งชุมชนคลองเตยไว้ในความมืดมนใจกลางมหานคร โดยมีใจความสำคัญดังนี้ ...

ข่าวพิมรี่พายติดตั้งไฟฟ้าโซล่าให้กับชุมชนคลองเตยกว่า200ดวง เพื่อให้คนทั้งประเทศมองเห็นคลองเตย เธอกล่าวว่า  “ความมืดมิดใจกลางเมืองหลวง เพราะพิมเชื่อว่า...ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงแสงสว่าง” 

'รสนา' ตีแผ่ มหากาพย์ 60 ปี ชุมชนคลองเตย

แม้จะมีทั้งเสียงชื่นชมและทักท้วงว่าพิมรี่พายไปติดแสงไฟให้กับพื้นที่ที่ชาวคลองเตยไปรุกที่ของเอกชนรายอื่นหรือไม่ จึงเป็นสาเหตุที่ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปจัดสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับชาวชุมชนคลองเตยตรงนั้นได้

ดิฉันได้มีโอกาสสอบถามผู้นำชุมชนที่คลองเตย และทราบว่าพื้นที่ที่พิมรี่พายติดไฟทั้งสนามเด็กเล่น และตามซอกซอยเป็นพื้นที่ล็อค 1,2,3 ซึ่งเป็นของการท่าเรือแห่งประเทศไทย

บัดนี้คนทั้งประเทศคงได้เห็นคลองเตยตามที่เธอหวังไว้แล้วว่า เหตุใดจึงไม่มีไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะอย่างสนามเด็กเล่น และถนนหนทางของชุมชนแออัดใจกลางเมืองหลวง

การท่าเรือแห่งประเทศไทยเริ่มสร้างในพื้นที่คลองเตยเมื่อกว่า 70 ปีที่แล้ว มีการดึงแรงงานจากต่างจังหวัดมาก่อสร้างท่าเรือ พื้นที่โดยรอบจึงถูกใช้เป็นพื้นที่พักอาศัยของคนงานและครอบครัวที่อพยพเข้ามาจากต่างจังหวัด มาเป็นแรงงานในการสร้างท่าเรือ และต่อมาในยุค”พ.ศ.2504ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”เป็นปีที่ไทยเริ่มมีการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรก

'รสนา' ตีแผ่ มหากาพย์ 60 ปี ชุมชนคลองเตย

คลองเตยก็กลายเป็นพื้นที่ของแรงงานอพยพจากที่อื่นๆเข้ามาใช้เป็นที่อาศัยโดยปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราว ตามบริเวณหลังบ้านของพนักงานการท่าเรือ จึงเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า “ล็อก” ตามล็อกห้องแถวบ้านพักพนักงานการท่าเรือ คือตั้งแต่ล็อก 1 ถึง ล็อก 12  คลองเตยเลยกลายเป็นชุมชนแออัดใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สิ่งที่สังคมมองผ่านเลยไปคือชุมชนคลองเตยคือผลพวงของการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร  ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯต้องการแค่แรงงานราคาถูกจากชนบท แต่ละเลยการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานเหล่านั้นให้มีความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รวมถึงการขจัดความยากจน การมีน้ำใช้และสุขาภิบาลที่ยั่งยืน การมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความปลอดภัยทั่วถึง ที่เป็นส่วนหนึ่งในหลักการ17 ข้อของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เพิ่งหยิบยกเอา 17 เป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสากลมาเป็นประเด็นสำคัญในการวางทิศทางการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด “no one should be left behind “ ที่ลุงตู่ นายกรัฐมนตรี มักหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ แต่ท่านคงไม่รับรู้ว่าชุมชนคลองเตยประชากรนับแสนคนยังถูกทิ้งอยู่ข้างหลังมายาวนานมาก

ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนคลองเตยที่บุกรุกพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นมหากาพย์อันยาวนานกว่า 60ปีที่รัฐบาลแต่ละยุคพยายามผลักดันชาวคลองเตยให้ย้ายออกไปจากพื้นที่ ที่ปัจุบันได้กลายเป็นใจกลางเมืองและเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาแปลงใหญ่ที่สุดเท่าที่เหลืออยู่เวลานี้ พื้นที่คลองเตยจึงมูลค่าที่ดินสูงมหาศาล ที่ภาครัฐอยากให้สัมปทานกับเอกชนไปลงทุนให้เจริญ ทันสมัย และอ้างว่าจะสร้างสมาร์ทคอมมูนิตี้ขึ้นบนที่ดินคลองเตย แต่เป็นสมาร์ทคอมมูนิตี้สำหรับคนรวยมากกว่าจะให้เป็นสมาร์ทคอมมูนิตี้ของชาวคลองเตย ใช่หรือไม่

การที่รัฐไม่จัดให้มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นไฟทาง ไฟบ้าน ไฟสนามเด็กเล่น และรวมถึงน้ำประปาให้ทุกครัวเรือนในคลองเตยในราคาที่เท่ากับครัวเรือนอื่นๆ เพราะมาจากฐานคิดว่าคนคลองเตยบุกรุกที่หลวง วิธีการบีบให้ออกจากพื้นที่ คือทำให้อยู่ลำบาก ไม่ให้เข้าถึงน้ำ ไฟ แบบบ้านอยู่อาศัยทั่วไป 

แม้บีบคั้นมานานกว่า 60ปี ก็ยังไม่สามารถผลักดันชาวคลองเตยออกจากที่บุกรุกได้ แต่กลับทำให้คนที่ยากจนที่สุด ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ในราคาแพงเป็น 2 เท่าของราคาทั่วไป เพราะต้องอาศัยพ่วงน้ำจากบ้านที่มีมิเตอร์ ส่วนไฟฟ้าที่เป็นมิเตอร์รวมทั้งชุมชนทำให้ถูกคิดค่าไฟแบบโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งแพงกว่าบ้านอยู่อาศัย ดิฉันยังได้รับทราบจากผู้นำชุมชนอีกว่า ยังมีคนจนในชุมชนคลองเตยเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเพคเกจสวัสดิการต่างๆที่รัฐจัดให้ รวมทั้งค่าน้ำ-ไฟฟรีด้วย

ตามหลักสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐต้องไปตกลงกันกับชาวบ้าน ซึ่งต้องแยกออกจากการที่รัฐบาลต้องให้บริการแก่ประชาชนทุกคนที่จ่ายภาษีจ้างรัฐบาลมาบริหาร รัฐบาลต้องอำนวยสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ประชาชนอย่างเสมอหน้ากัน อย่าว่าแต่คนไทยเลย แม้แต่คนอพยพจากประเทศอื่น รัฐบาลก็ยังต้องอำนวยสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ตามหลักสิทธิมนุษชน

จากคลิปของพิมรี่พายที่สัมภาษณ์ชาวคลองเตยว่าอยู่ในสภาพมืดมนไม่มีแสงไฟทาง ไฟสาธารณะมานานเท่าใดแล้ว คำตอบจากชาวคลองเตยว่า ไม่ต่ำกว่า 60ปีมาแล้ว เป็นเรื่องที่คนภายนอกอาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อน ว่าใจกลางความเจริญของเมือง คลองเตยยังไม่ต่างจากบ้านป่าที่มีเสาไฟฟ้าวิ่งผ่านหลังคาบ้าน แต่ตนเองเข้าไม่ถึงแสงสว่าง

แสงไฟจากโซล่าของพิมรี่พายน่าจะกระตุกความคิดของภาครัฐ และสังคมว่า แนวคิด “no one should be left behind “ ควรมีวิธีปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างไร การที่เธอลุกขึ้นมาติดไฟฟ้าส่องสว่างในสนามเด็กเล่น ในถนนหนทาง ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของรัฐ คงจะได้กระตุกต่อมสำนึกว่า การเกิดขึ้นของชุมชนแออัดซึ่งคือที่อยู่อาศัยราคาถูกของคนจนเมืองที่ยังทำงานรับใช้ และค้ำจุนเศรษฐกิจของเมืองใหญ่อย่าง กทม.อยู่ รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องดูแลคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชากรไทยเต็มขั้นเหล่านี้

รวมทั้งสร้างพื้นฐานอนาคตที่ดีแก่ลูกหลานของชุมชนคลองเตย ที่มีความใฝ่ฝันอันก้าวหน้าเหมือนเยาวชนสากลทั้งหลาย อย่าให้เมืองหลวงของไทยถูกตำหนิว่า เติบโตมาจากแรงงานราคาถูกของคนจนทั้งประเทศ แล้วทอดทิ้งประชากรอันมีค่าเหล่านี้ไว้ข้างหลัง