“หมอธีระ”เผยหนทางสู้โควิด มีกุญแจเพียง 3 ดอก

04 ม.ค. 2564 | 02:52 น.

“หมอธีระ”เผยหนทางสู้โควิด19 มีกุญแจเพียง 3 ดอก แนะสกัดจากบทเรียนทั่วโลก ล่าสุดติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 85 ล้านคนแล้ว

วันที่ 4 มกราคม  2564  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 4 มกราคม  2564   ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  ระบุว่า  ทะลุ 85 ล้านไปแล้ว 

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 503,182 คน รวมแล้วตอนนี้ 85,419,856 คน ตายเพิ่มอีก 7,014 คน ยอดตายรวม 1,849,411 คน 

 

อเมริกา เกิน 21 ล้านไปเรียบร้อย เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 206,712 คน รวม 21,066,766 คน ตายเพิ่มอีก 1,524 คน ยอดตายรวม 359,834 คน

 

อินเดีย ติดเพิ่ม 16,354 คน รวม 10,340,985 คน

 

บราซิล ติดเพิ่มถึง 17,214 คน รวม 7,733,619 คน

 

รัสเซีย ติดเพิ่ม 24,150 คน รวม 3,236,787 คน 

 

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 12,489 คน รวม 2,655,728 คน 

 

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักหมื่นต่อวัน 

 

สหราชอาณาจักรติดเชื้อเพิ่มเกินห้าหมื่นคนติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อวานนี้ 54,990 คน ในขณะที่ไอร์แลนด์ก็กำลังเผชิญการระบาดระลอกสามที่สูงกว่าทั้งสองระลอกที่เคยเผชิญมา ล่าสุดติดเชื้อต่อวันสูงสุดเท่าที่มีมา 4,961 คน

 

ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น 

 

แคนาดานั้นน่าเป็นห่วงมาก ยอดรวมเกิน 6 แสนคนไปแล้ว และติดเชื้อต่อวันสูงสุดเท่าที่เคยเป็นมา 11,373 คน มากกว่าระลอกแรกเกือบ 5 เท่า

 

แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

 

เมียนมาร์ เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนาม นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชามีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 729 คน ตายเพิ่มอีก 17 คน ตอนนี้ยอดรวม 126,345 คน ตายไป 2,728 คน อัตราตายตอนนี้ 2.2%

 

สำหรับเมืองไทยเรานั้น ตอนนี้ระบาดหนักมาก แต่ขอให้ไม่ท้อถอย ร่วมกันสู้สุดใจ

 

สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับความจริงว่า สาเหตุหลักของการระบาดซ้ำครั้งนี้เกิดจากเรากันเองครับ

 

หนึ่ง คนไทยที่ลักลอบกลับเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

 

สอง คนที่อำนวยความสะดวกให้คนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

 

สาม นายจ้างที่รับคนต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาทำงานโดยไม่ผ่านระบบการกักตัวและตรวจโรคโควิด-19 ตามที่ทางการกำหนด

 

สี่ เจ้าของธุรกิจที่ค้าขายโดยไม่ป้องกันตัว ทำให้แพร่สู่คนอื่นในสังคม

 

ห้า นักพนันมากมายที่ไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม 

 

หก นักเที่ยวสถานบันเทิง รวมถึงคนทำงานในพื้นที่เสี่ยง สถานที่เสี่ยง หรือมีกิจกรรมเสี่ยง

 

และสำคัญที่สุดคือ เจ็ด เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและนักการเมืองที่คุมอำนาจนโยบาย ที่สร้างมายาคติ ทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าเอาอยู่ โรคธรรมดา โรคกระจอก คนเงินของเหลือเฟือ ระบบติดตามโคตรเจ๋งระดับโลก ทั้งๆ ที่หากพิจารณาตามข้อมูลที่เห็นจากการระบาดซ้ำของทั่วโลก โอกาสเอาอยู่นั้นน้อยมาก

 

ทั้งเจ็ดเรื่องดังกล่าว จึงอธิบายปรากฏการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบัน

 

การวิเคราะห์ตรงๆ เช่นนี้ จะช่วยให้เราได้เรียนรู้ ระมัดระวัง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

หากว่ากันตามข้อมูลที่มีอยู่ โอกาสที่เราจะสะบักสะบอมกว่าเดิมมีสูงเกือบ 90% ในขณะที่โอกาสที่เจ็บตัวน้อยกว่าหรือพอๆ กับครั้งแรกนั้นมีน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นศูนย์

ขอให้ 15 มกราคม พยายามช่วยกันกดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ป้องกันตัวเองอย่าให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว ถ้าวันนั้นน้อยกว่า 500...ก็มีหวังเสร็จในมีนาคม แต่หากมากกว่านั้นก็มีโอกาสยาว

อย่างไรก็ตาม การวางแผนชีวิตของเราแต่ละคนไว้ล่วงหน้าก็ย่อมจะดี จะได้ไม่ประมาท...Look for the best but prepare for the worst...

หนทางสู้นั้น สกัดจากบทเรียนทั่วโลก มีกุญแจเพียง 3 ดอก คือ รัฐต้องประกาศมาตรการเข้มข้นเคร่งครัดอย่างทันเวลา (ไม่เกิน 4 สัปดาห์หลังจากเริ่มระบาดซ้ำ), ประชาชนต้องสู้ยิบตา ช่วยกันป้องกันตัวอย่างเต็มที่และพร้อมเพรียง, และระบบการตรวจโควิดนั้นต้องตรวจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหาคนติดเชื้อทั้งจากกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง รวมถึงประชาชนทั่วไปในทุกพื้นที่ที่มีเคส ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีก็ตาม

 

ขอให้ทราบไว้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะเผชิญนี้มีโอกาสสูงมากที่จะแรงกว่าเดิม นานกว่าเดิม...อาจติดเชื้อสูงถึง 940 คนต่อวันหรือ 5 เท่าของระลอกแรก และต้องสู้นาน 88 วันหรือ 2 เท่าของระลอกแรก

 

นั่นคือการคาดประมาณ อาจมากหรือน้อยกว่านั้นได้ ถ้าเราไม่ช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงก็จะเจ็บหนักขึ้น นานขึ้น แต่หากสู้กันยิบตา แม้โอกาสจะน้อย ก็ยังมีโอกาสที่จะเบาลง และสั้นลงได้บ้าง

 

จุดเวลาที่จะประเมินคือ กลางมกราคมนี้ และปลายมีนาคม

 

เวลาวิกฤติเช่นนี้ ขอให้มองเป้าระยะสั้นไว้ จะทำให้เราทุกคนมีกำลังใจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดโควิด 4 ม.ค.64 ทั่วโลกผู้ป่วยเพิ่ม 4.70 แสนราย รวม 85.45 ล้านราย

‘หมอยง’ยก 6 ขั้นตอนคุม"โควิดระบาดรอบใหม่"  

จับตา ประชุมศบค.ชุดใหญ่วันนี้ ลุ้นงัดมาตรการเข้มคุมระบาดโควิด-19