จับสัญญาณ "ล็อกดาวน์" ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?  

21 ธ.ค. 2563 | 20:00 น.

รายงานพิเศษ : จับสัญญาณ "ล็อกดาวน์" ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?  

จะมีการ "ล็อกดาวน์" หรือ สั่งปิดสถานที่ ห้ามทำกิจกรรม ห้ามประกอบกิจการ หลายๆจังหวัดพร้อมกัน หรือ ทั่วประเทศ เหมือนช่วงเดือนเมษายน - กรกฎาคม อีกหรือไม่


นั่นคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะผู้ที่จะเฉลยและตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เขามีชื่อและนามสกุลว่า "ความรุนแรง ของสถานการณ์" ซึ่งหมายถึงมีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไม่ได้ แต่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว กับการการใช้ชีวิตอย่างลำบากและทรมาน ท่ามกลางมาตรการคุมระบาดของเชื้อโควิด19 ที่ต้องยกการ์ดสูงสุดแบบนั้น 


หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังร่วมวงระชุมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเป็นวงเล็กๆ

จับสัญญาณ \"ล็อกดาวน์\" ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?  

ตอนหนึ่งของการแถลง จู่ๆ "หมอทวีศิลป์" ก็แถลงว่า ในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ กระทวงสาธารณสุข  ให้เตรียมเกณฑ์ขึ้นมา ก่อนหน้านี้มีการประกาศล็อกพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อพบผู้ติดเชื้อเกินกว่า 500 คน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งล็อกดาวน์ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ถ้าจะเป็นการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด จะต้องบังคับใช้กฎหมายฉบับใด และปิดอย่างไร

 

"ซึ่งนายกฯ ให้สั่งการให้ กระทรวงสาธารณสุขไปทบทวนหลักเกณฑ์แล้วมานำเสนอใหม่อีกรอบ พร้อมสั่งให้เตรียมหลักเกณฑ์ กรณีต้องล็อกดาวน์หลายจังหวัดหรือทั้งประเทศไว้ให้พร้อมด้วย"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล็อกดาวน์ "สมุทรสาคร" เสียหายวันละ 1 พันล้าน THAN TALK 21-12-63

สกัดโควิด “อนุทิน” จ่อชงล็อกดาวน์พื้นที่เพิ่ม

ล็อกดาวน์สมุทรสาคร สะเทือนหุ้นค้าปลีก

ล็อกดาวน์ “สมุทรสาคร” พ่นพิษ “ส.อ.ท.” เตรียมแผนรับมือด่วน

นั่นหมายความว่าการพูดคุยในวงเล็กๆ ไม่ประมาท และมีการประเมินสถานการณ์ที่รุนแรงสูงสุดเอาไว้แล้ว ซึ่งจะเรียกว่าเป็นสัญญาณให้เตรียมตัวเตรียมใจได้หรือไม่ก็อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละท่าน

จับสัญญาณ \"ล็อกดาวน์\" ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?  

ในการแถลงหมอทวีศิลป์ บอกถึงข้อมูลของ ศบค. ณ วันที่ 21 ธันวาคม จากกรณีโควิดของจังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 382 ราย เป็นการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 360 ราย ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 14 ราย 

 

ในจำนวนนี้ 12 ราย มีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร แบ่งเป็นชายไทย 5 ราย หญิงไทย 6 ราย และชายลาว 1 ราย ตรวจหาเชื้อช่วงวันที่ 18-19 ธ.ค. ผลพบเชื้อมีอาการ 8 ราย ได้แก่ เจ็บคอ ไอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และไข้ ไม่มีอาการ 4 ราย 

 

ส่วนอีก  2 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 29 ปี ช่างเสริมสวยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจหาเชื้อวันที่ 18 ธ.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ รักษารพ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และหญิงเมียนมาอายุ 42 ปี อาชีพพนักงานห้าง อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและประวัติเสี่ยง ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารักษา รพ.แม่สอด จ.ตาก

 

สำหรับการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว 360 ราย มากกว่า  90% ไม่มีอาการ และรอผลการตรวจอีก 2,600 กว่าราย นอกจากนี้ จะมีการตรวจเชิงรุกเพิ่มอีก 10,300 ราย ผลการตรวจจะทยอยออกมาเรื่อยๆ 

 

ข้อมูลระบุอีกว่า การติดเชื้อยังคงสูงอยู่ที่บริเวณตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร อัตราติดเชื้อประมาณ  42% วงรอบนอกอยู่ที่ประมาณ 6% 

 

สำหรับลูกค้าประจำตลาดกลางกุ้ง 1,000 กว่าราย ได้มีการติดตามทุกคน ส่วนผู้ที่เคยไปตลาดกุ้งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ขอให้แสดงตัวและไปรับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน 

ด้านนายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง บอกว่า จากแผนที่การระบาด และการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นค่อนข้างแน่ชัดว่าจุดตั้งต้นอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นตลาดกุ้งเลี้ยง ไม่ใช่อาหารทะเลทั้งหมด 

 

หลังจากนั้นการระบาดเป็นวงเฉพาะในกลุ่มแรงงานเมียนมา และพบบางรายในบางจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับแรงงานเมียนมา โดยขณะนี้ฝ่ายปกครองได้ล็อกดาวน์จุดที่พบผู้ติดเชื้อมากคือพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและหอพัก ไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว สมมติฐานเรื่องสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานเมียนมา เพราะจากการค้นหาตรวจเชิงรุกพบว่าการติดเชื้อมากกว่า 90% เป็นแรงงานเมียนมา

นายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง

ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานเมียนมาเข้ามาจากต่างประเทศในช่วงก่อนการระบาด และนำเข้ามาแพร่สู่ชุมชนเมียนมาที่มีอยู่เดิมแล้วในพื้นที่สมุทรสาคร 

 

อย่างไรก็ตามเพื่อพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว จะได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพิ่มเติมเพื่อดูรหัสพันธุกรรมว่ามีความเชื่อมโยงกับที่ไหน หรือกรณีใดบ้างต่อไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในกลุ่มแรงงานเมียนมานั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเกิดจากการอยู่กันอย่างแออัดในที่พักอาศัย และมีการติดต่อใกล้ชิดกันจากชีวิตประจำวัน โดยไม่มีมาตรการป้องกันตนเอง เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ  

 

นายแพทย์วิชาญกล่าวต่อว่า จากการค้นหา ขีดวง เฝ้าระวัง ค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ทั้งใน จ.สมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดอื่น จะทำให้พบรายงานผู้ป่วยที่มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีข่าวพบผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัด ซึ่งตามหลักระบาดวิทยาถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ว่าระบบเฝ้าระวังโรคของเราในทุกพื้นที่ ระบบเฝ้าระวังเชิงรุก และเจ้าหน้าที่กำลังทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้ตรวจจับได้เร็ว 

 

ขอให้ประชาชนอย่าตระหนก แต่ให้ตระหนักในการป้องกันตนเอง มาตรการสำคัญที่จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชน คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่เข้าสถานที่แออัด และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้สวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์ ยกการ์ดให้สูง เพื่อไม่ให้ขยายการระบาดเป็นวงกว้าง 

 

ส่วนประชาชน จ.สมุทรสาคร และคนที่ออกมาจากจ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยให้โทรปรึกษา สายด่วนของจังหวัดหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน 

 

หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ มีประวัติไปตลาดกลางกุ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือเคยสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและไม่สบายด้วย สามารถเดินทางไปเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน โดยแพทย์จะประเมินความเสี่ยงและพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วแต่กรณี

 

ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่าเชื่อข่าวปลอม อย่าส่งต่อ ให้ติดตามข้อมูลจากทางการ และดูว่าตัวเองเป็นผู้สัมผัสกลุ่มไหน เสี่ยงสูงหรือไม่ และปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด หากเสี่ยงสูงไปรับการตรวจ เสี่ยงปานกลางปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อประเมินอาการ เสี่ยงต่ำสังเกตอาการตัวเอง 14 วัน และทุกกลุ่มต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกการ์ด100% ใช้ชีวิตแบบ New normal ใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ใช้ช้อนตัวเอง งดอยู่ในพื้นที่แออัด

 

ผู้ประกอบการต้องมีการคัดกรอง และบังคับสแกน ไทยชนะ ทุกคน เพื่อช่วยติดตามตัว นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่สวมหน้ากาก 100%ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน ขอให้เข้มมาตรการตามข้อสั่งการ การ์ดอย่าตก” นายแพทย์วิชาญกล่าว

 

ยังไม่ "ล็อกดาวน์" ครม.โยน ศบค.ถก 24ธ.ค.นี้