ดุสิตโพล ชี้ “โควิด-เศรษฐกิจ” ฉุดแผนท่องเที่ยวปีใหม่

13 ธ.ค. 2563 | 01:54 น.

"ดุสิตโพล" ชี้ "โควิด-เศรษฐกิจ" ฉุด แผนท่องเที่ยวปีใหม่ อยากเห็นรัฐมีมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย

13 ธันวาคม 2563 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2020” จำนวนทั้งสิ้น 1,277 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2563 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นกรณีอีกไม่กี่วันก็จะหมดปี 2020 และเข้าสู่ปีใหม่ โดยในช่วงวันหยุดยาว ที่คาดว่า จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการพักผ่อนและเฉลิมฉลองปีใหม่ หลังจากที่คนไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆมาตลอดทั้งปี

 

ผลสำรวจ พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยในปี 2020 ที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ ไปเที่ยวอย่างระมัดระวังตัวมากขึ้น ร้อยละ 83.56 ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีประมาณ 10,001 -  20,000 บาท ร้อยละ 26.17 สิ่งที่อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้ คือ มีมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อเที่ยวอย่างปลอดภัย ร้อยละ 76.40

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เราเที่ยวด้วยกัน" ที่พัก 5 ล้านคืนเต็มแล้ว รอรับสิทธิใหม่ 1 ล้านคืน 16 ธ.ค.นี้

พยากรณ์อากาศวันนี้ เหนือ-อีสาน อากาศเย็น ภาคใต้ มีฝนบางพื้นที่

ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 72 ล้านราย เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนราย

 

ส่วนจังหวัดที่คนไทยจะไปเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 31.67 โดยสิ่งที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่คือ โควิด-19 ร้อยละ 92.71 

นางสาวกมลกนก เกียรติศักดิ์ชัย  คณบดีโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ท่องเที่ยวปี 2020 นับจากช่วง COVID-19 ใครๆก็บ่นว่าเป็นปีที่หนักสำหรับผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเองก็ตาม หลายเดือนผ่านไปจะพบว่า เราในฐานะคนไทยปรับตัวได้ดีกว่าชาติใดในโลกก็ว่าได้ วิกฤติต่างๆกลับกลายเป็นโอกาส และหลายคนคว้าโอกาสครั้งนี้ในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวข้องกัน

 

การปรับตัวทางการท่องเที่ยวเริ่มมาตั้งแต่ระดับนโยบายลงสู่ประชาชน จนกลายเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวยุคปกติใหม่ (Amazing Thailand Safety and Health Administration: SHA) ที่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพึงปฏิบัติ จากการท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่คึกคัก

 

ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็ปรับตัวในรูปแบบ Internationalization@Home เช่น สะพานหันปรับตัวเป็นริมคลองเมือง Otaru ที่พักตากอากาศที่จำลองการพักแบบ Igloo ททท.ออกแคมเปญ Chillaxing in Chiangkhan / Cafes Hopping in Khaoyai เป็นต้น บางกลุ่มเป็นตัวอย่างของ Switcher ที่ดี จากโรงแรมที่พักกลายเป็นร้านอาหารในสวน การท่องเที่ยวแบบใหม่ Solo-Dual Traveler กลายเป็นที่นิยม หรือแม้กระทั่งกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่อาศัย Online Media เป็นสื่อกลางก็ได้รับความนิยม เช่น Virtual Tourism, Podcast, Online exhibition and events เป็นต้น 

 

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงกลับมาอย่างสง่างาม พร้อมกับการพัฒนาตนเองของบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ Re-skills, Up-skills และ New skills จะเป็นเครื่องมือสำหรับการเตรียมตัว และจะพาการท่องเที่ยวของไทยไปได้ไกลกว่าเดิม