ตรวจสอบเงินประกันรายได้ข้าว เช็กสถานะเกษตรกร "ประกันราคาข้าว" ครบจบที่นี่

17 พ.ย. 2563 | 06:50 น.

ธ.ก.ส.ยังทยอยจ่ายเงิน “ประกันรายได้ข้าว” ให้เกษตรกร ชาวนา อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบสิทธิความเป็นเกษตรกรที่ farmer.doae.go.th เช็กสถานะเงิน "ประกันราคาข้าว" chongkho.inbaac.com

17 พฤศจิกายน 2563 ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ "ประกันราคาข้าว"  ปี 2563/64 (รอบที่ 1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังคงทยอยจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาท อย่างต่อเนื่อง โดยนายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยืนยันว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว ธ.ก.ส. จะทยอยจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจนครบ

 

เกษตรกรที่จะได้รับเงินส่วนต่างประกันราคาข้าวจากโครงการประกันรายได้ข้าว จะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย

เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร สามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน ได้ที่ http://farmer.doae.go.th/ หรือ คลิกที่นี่

ตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกร

เมื่อเข้าไปแล้วให้กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เสร็จแล้วกดค้นหา ระบบก็จะแจ้งว่าท่านได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 เรียบร้อยแล้วหรือไม่

 

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียน จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงินประกันราคาข้าว

 

จากนั้น ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายใต้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยล่าสุดคณะอนุกรรมการได้กำหนดราคาชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้ข้าวกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงแล้ว 2 งวด เพื่อให้ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ดังนี้

 

การชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวงวดแรก

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง ตันละ 2,911.17 บาท รับเงินสูงสุดไม่เกิน 40,756.38 บาทต่อครัวเรือน

 

  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง ตันละ 2,137.45 บาท รับเงินสูงสุดไม่เกิน 34,199.2 บาทต่อครัวเรือน

 

  • ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง 1,222.36 บาท รับเงินสูงสุดไม่เกิน 36,670.8 บาทต่อครัวเรือน

 

  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง ตันละ 1,066.96 บาท รับเงินสูงสุดไม่เกิน 26,674 บาทต่อครัวเรือน

 

  • ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง ตันละ 2,084.34 บาท รับเงินสูงสุดไม่เกิน 33,349.44 บาทต่อครัวเรือน

 

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวงวดแรก ที่มีคุณสมบัติถูกต้องทั้งสิ้น 871,869 ราย คิดเป็นเงิน 9,298 ล้านบาท

 

การชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวงวดที่ 2

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง 2,996.97 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 41,957.58 บาทต่อราย จำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 788,681 ราย

 

  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง 2,272.96 บาทต่อตัน  รับเงินชดเชยสูงสุด  36,367.3 9 ต่อราย จำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 105,590 ราย

 

  • ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง 1,119.18 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 33,575.4 ต่อราย จำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 62,929 ราย

 

  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง 1,060.16 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 26,504 ต่อราย จำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 9,204 ราย

 

  • ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน เงินชดเชยส่วนต่าง 1,311.01 บาทต่อตัน รับเงินชดเชยสูงสุด 20,976.16 ต่อราย จำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์580,307 ราย

 

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวงวดแรก ที่มีคุณสมบัติถูกต้องทั้งสิ้น 1,546,711 ราย

เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินประกันราคาข้าวได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect

 

เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถตรวจสอบสถานะการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าวด้วยตัวเอง ที่ chongkho.inbaac.com จากนั้นให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เสร็จแล้วกดค้นหา หากเงินเข้าระบบแล้วจะมีการแจ้งว่าโอนเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังไม่เข้าให้รอข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะทำการโอนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ

ตรวจสอบเงินประกันรายได้ข้าว เช็กสถานะเกษตรกร "ประกันราคาข้าว" ครบจบที่นี่

18 พฤศจิกายน 2563 ธ.ก.ส.ชี้แจงกรณีการโอนเงินตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 งวดแรก เมื่อ 16 พ.ย. 2563 ไม่ครบหรือเกินกว่าจำนวนจริง จากข้อผิดพลาดของการสลับชนิดข้าวทำให้การคำนวณคลาดเคลื่อน โดยนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยอมรับว่า ธ.ก.ส.ได้ตรวจพบข้อผิดพลาดในการคำนวณเงินชดเชยสลับชนิดข้าว กล่าวคือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้าซึ่งได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 1,222.36 บาท กับข้าวหอมปทุมธานีที่ได้รับการชดเชยส่วนต่างตันละ 1,066.96 บาท จึงทำให้มีเกษตรกรจำนวน 409,917 ราย ซึ่งปลูกข้าวเจ้าและข้าวหอมปทุมธานีไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่ถูกต้อง
         

อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ได้เร่งแก้ไขโดยการโอนเงินเพิ่มเติมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเจ้าครบตามจำนวน ภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และมอบหมายให้สาขาในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในกรณีที่ต้องดึงเงินส่วนที่เกินคืนจากบัญชีเงินฝากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปทุมธานี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563