"หมอธีระ"ชี้ โควิด-19 โรคล้อมไทย เพื่อนบ้านระบาดถ้วนหน้า

01 ก.ย. 2563 | 02:15 น.

"หมอธีระ"ชี้ โควิด-19 โรคล้อมไทย เพื่อนบ้านระบาดถ้วนหน้า เมียนมาอัตราการเพิ่มของเคสติดเชื้อสะสม 2 เท่าใน 8 วัน

1 กันยายน 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด 1 กันยายน 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  ระบุว่า 

สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 1 กันยายน 2563

ติดเพิ่มกันอีก 239,012 คน รวม 25,593,545 คน เสียชีวิตไปแล้ว 853,493 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 36,850 คน รวม 6,206,223 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 45,961 คน รวม 3,908,272 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 68,770 คน รวม 3,687,939 คน คาดว่าอีก 10 วันจะแซงบราซิลขึ้นที่ 2

รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,993 คน รวม 995,319 คน พรุ่งนี้รัสเซียจะแตะ 1,000,000

เปรูแซงแอฟริกาใต้ขึ้นอันดับ 5 ไปแล้ว ต่อด้วยเม็กซิโกติดเพิ่มอีกสี่พันกว่า

สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน อิหร่าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ล้วนติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายพัน

หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ติดเพิ่มกันหลักร้อยถึงเฉียดพัน

ที่น่าเป็นห่วงมากคือ เมียนมาร์ตอนนี้ติดเพิ่มอีก 107 คน

ส่วนจีน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ติดกันหลักสิบ มาเลเซีย ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และเวียดนามติดกันต่ำกว่าสิบ

...เมียนมาร์ ตอนนี้อัตราการเพิ่มของเคสติดเชื้อสะสม 2 เท่าใน 8 วัน...ในขณะที่จำนวนการเพิ่มของเคสติดเชื้อใหม่รายวัน สูงขึ้น 18% ทุก 2-3 วันมาแล้วสองรอบ...และเพิ่มขึ้น 50% แบบขึ้นลงมาแล้วสามขยัก...วิเคราะห์จำนวนเคสติดเชื้อใหม่ต่อสัปดาห์ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาพบว่า เพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 1 คนต่อวัน ขึ้นเป็น 3 คนต่อวัน ไปเป็น 14 คนต่อวัน และสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มไปเป็น 59 คนต่อวัน...ขึ้นแบบ exponential

ดังนั้นหากประมวลความทั้งหมดแล้ว เมียนมาร์น่าจะกำลังเจอการระบาดใหม่ที่หนักทีเดียว ไทยเราเองอาจต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตรวจคัดกรอง และการดูแลรักษาหากเพื่อนบ้านเราต้องการ นอกจากนี้ควรพิจารณาปิดด่าน ไม่ให้เกิดการเดินทางข้ามชายแดน รวมถึงการป้องกันเรื่องการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วย

เมื่อเช้าสนทนากันที่บ้าน คุยกันว่าตุลาคมจะเป็นอย่างไร?

ผมฉุกคิดอยู่สักครู่ และตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า "หากดูตามข้อมูลวิชาการที่เรามีในมือ คงจะมีการระบาดได้"

ที่สนทนาไปนั้น มองตามความจริงดังนี้

หนึ่ง กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่อนุญาตให้เข้ามานั้น ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสัปดาห์ก่อนก็เริ่มเห็นการติดเชื้อในแทบทุกกลุ่มเป้าหมายแล้วทั้งนักธุรกิจนักลงทุน ผู้ป่วยต่างชาติและผู้ติดตาม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานฝีมือ แต่ตรวจพบระหว่างการกักตัวในสถานที่ที่เตรียมไว้โดยรัฐ หรือโรงพยาบาล

แต่หากจำนวนเคสมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเริ่่มเห็นการหลุดจากกรอบการกักตัว 14 วัน แม้จะดำเนินการตรวจตามมาตรฐานไปแล้ว อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ 100,000 คน จะมีติดเชื้อราว 500 คน และมีโอกาสหลุด 65 คน โดยหากดูพิสัยที่เป็นไปได้ทั้งหมดของโอกาสหลุดรอดจากระบบ จะอยู่ระหว่าง 9-65 คนครับ

ตอนนี้ไม่ทราบว่าจำนวนที่ทยอยเข้ามานั้นมีมากน้อยเพียงใดแล้ว เพราะไม่ได้ตามอัพเดต แต่หากแตะหนึ่งหมื่น ก็มีโอกาสหลุด 1 คนได้ และเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนที่คาดประมาณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 25.6 ล้านราย วันเดียวติดเชื้อเพิ่ม 2.3 แสนราย

โตเกียวงอมแงม ติดเชื้อโควิดพุ่ง 8,000 คนในเดือนเดียว

ฟิลิปปินส์เร่งเจรจา 16 บริษัทวัคซีนโควิด เล็งร่วมมือทดลอง-ตั้งฐานผลิต

สอง ความเสี่ยงจากโรคล้อมไทย เพื่อนบ้านมีการระบาดถ้วนหน้า มีโอกาสทะลักเข้ามาในไทยผ่านช่องทางต่างๆ ได้ และที่น่ากังวลคือ การลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าว ซึ่งตบมือข้างเดียวไม่ดัง แรงงานต่างด้าวอยากเข้ามา แต่คงจะยากหากไม่ได้รับความช่วยเหลือของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง หรือเจ้าหน้าที่...หากมี...

และหากเข้ามาแล้ว มักทำงานในหลายลักษณะ เช่น ที่บ้าน ที่บริษัทห้างร้าน หรือที่โรงงานอุตสาหกรรม การระบาดจึงสามารถปะทุได้หลายรูปแบบ และเกินกว่าที่รัฐจะมีกำลังตรวจสอบได้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะระบาดแบบระเบิดขึ้นมาทันทีทันใด หาต้นตอได้ยาก

สาม ความเสี่ยงจากฝ่ายธุรกิจการเมืองที่พยายามผลักดันสุดลิ่มทิ่มประตู กับนโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยว แปลงร่างแปลงกายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะโมเดลเกาะสวรรค์ หรือโมเดลจังหวัดร่ำรวยตามภูมิภาคต่างๆ โดยหารู้ไม่ว่า จะนำหายนะมาเยือนอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแดนดงโรคโดยยากที่จะกู้คืนมาได้

...ถามว่า ประเมินเช่นนี้แล้วจะทำอย่างไรดี?

คงทำได้เพียงเล่าให้พวกเราฟัง และชวนให้ทุกคนตั้งอยู่บนความไม่ประมาท อดทน อดออม ใช้ชีวิตอย่างมีสติ พอเพียง ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ ป้องกันตนเองอยู่เสมอ

ใครเคยชินกับการใช้แรงงานต่างด้าวมาช่วยทำงานบ้าน หากเลี่ยงไปก่อน และฝึกทำงานบ้านเอง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงมาได้ เพราะหากไม่มี demand ย่อมไม่มี supply

ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว ก็ควรทำอย่างถูกกฎหมาย ใครยังใช้แบบไม่ถูกกฎหมายก็รีบพาไปขึ้นทะเบียนและไปตรวจให้เรียบร้อย เพราะแรงงานราคาถูกนั้นอาจประหยัดได้บ้างตอนนี้ แต่หากแจ็คพอตระบาดขึ้นมา ธุรกิจนั้นจะได้รับผลกระทบมหาศาล ได้ไม่คุ้มเสียครับ

ในขณะที่สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี ศบค. และสมช. นั้นคือสิ่งที่ยืนยันมาตลอด เห็นถึงความจำเป็นด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้สถานการณ์ระบาดทั่วโลกรุนแรงมาก ยังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม จำเป็นต้องชะลอไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือนครับ เราประหยัดเงินส่วนอื่นๆ มาประคับประคอง พัฒนารูปแบบธุรกิจท่องเที่ยวไทยให้ปลอดภัย ลดการพบปะ เปลี่ยนการบริการแบบอดีตมาเป็นการออกแบบการขายประสบการณ์ เน้นคุณค่า ไม่เน้นปริมาณ และใช้เวลาพัฒนาแรงงานคนของเราให้มีทักษะใหม่ ซึ่งใช้เวลา 6 เดือนนี้แหละทำให้คนและระบบเปลี่ยนไปจากอดีต ก็จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศได้เวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤติในอนาคน

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือสมบัติล้ำค่าของชาติไทย ที่ต้องยึดถือปฏิบัติ นำมาใช้ในวิกฤตินี้ครับ

ประเทศไทยต้องทำได้

พยากรณ์อากาศ วันนี้ 38 จังหวัด ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก