"บอส อยู่วิทยา"เปิดหนังสืออัยการสั่งไม่ฟ้อง

24 ก.ค. 2563 | 09:19 น.

เปิดหนังสืออัยการสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา" ทายาทกระทิงแดงที่ขับรถชนตำรวจจนเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ด้านรองโฆษก สตช.เผยเตรียมยื่นศาลและประสานอินเตอร์โพลเพิกถอนหมายจับ ยืนยันกระบวนการพิจารณาไม่ได้มีสองมาตรฐาน

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากกรณีสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ของสหรัฐอเมริกา นำเสนอข่าวอัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส บุตรชายผู้บริหารเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง ‘กระทิงแดง’ ทุกข้อกล่าวหาในคดีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ปัจจุบันหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ยืนยันว่า ได้รับทราบจากอัยการถึงการตัดสินใจครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ว่าจะไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ และมีการแจ้งนายวรยุทธพร้อมยกเลิกหมายจับแล้วนั้น 

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 เว็บไซต์สำนักข่าวไทย (MCOT) เผยแพร่เอกสารของ สน.ทองหล่อ ลงนามโดย พ.ต.ท.ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการ (สอบสวน) ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของนายวรยุทธ โดยอ้างถึง อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ ทุกข้อกล่าวหา 


ตามหนังสือของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ที่ อส.0017.1/445 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2563 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา) ไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ คดีจึงเป็นอันสิ้นสุดตามกระบวนการทางกฎหมาย และพนักงานสอบสวนได้ทำการขออนุมัติศาลเพิกถอนหมายจับในคดีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)

"บอส อยู่วิทยา"เปิดหนังสืออัยการสั่งไม่ฟ้อง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษก สตช.ยันไม่อาจก้าวล่วงอำนาจอัยการ ยื่นศาล-อินเตอร์โพลเพิกถอนหมายจับ
สำนักข่าวอิศรา ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย โฆษก สตช. พร้อมด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช. ได้แถลงข่าวถึงกรณีสื่อต่างประเทศรายงานว่าอัยการไม่สั่งฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา  กรณีขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 และมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ว่าหนังสือจากอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 มีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 


เมื่อเราได้รับคำสั่งแล้วจะมีการพิจารณาในฝ่ายกฎหมายว่าจะมีความเห็นอย่างไร และเห็นพ้องตามอัยการ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องก็ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ยื่นต่อศาลเพื่อขอเพิกถอนหมายจับ และให้กองการต่างประเทศประสานไปยังตำรวจสากลเพื่อขอเพิกถอนหมายจับขององค์การตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ด้วย

 

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า การเพิกถอนหมายจับเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ส่วนเรื่องเหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เราคงไม่ไปก้าวล่วงได้ แต่ในเรื่องความเห็นแย้งหรือไม่แย้ง ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้คดีเดียว มันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ หลายคดีตำรวจก็มีความเห็นแย้ง หลายคดีตำรวจก็ยืนตามความเห็นอัยการ ก็คงเป็นการพิจารณาตามพยานหลักฐาน ไม่ใช่เรื่องของสองมาตรฐาน 
ในเรื่องการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างตำรวจ อัยการ และศาล มีอยู่แล้ว ขั้นตอนก็คือว่าเมื่อมีการส่งความเห็นไปเพิ่มเติมตามที่พนักงานอัยการได้สั่งการ เราก็ดำเนินการตามนั้น


พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวด้วยว่า การแย้งหรือไม่แย้งความเห็นอัยการ อยู่ที่พยานหลักฐาน ไม่ใช่การทำตามกระแสสังคม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปี 2555 นั้น บางนายที่มีความบกพร่องในการทำสำนวนก็ถูกดำเนินการทางวินัย บางส่วนเสร็จสิ้นไปแล้วด้วยซ้ำ


ในการแจ้งข้อกล่าวหาอาจจะมีพยานหลักฐานบางส่วน แต่ถ้ามีหลักฐานเพิ่มเข้ามาใหม่จะไปตัดสิทธิในการมีความเห็นทางคดีไม่ได้ และมีการกลั่นกรองโดยพนักงานอัยการทุกขั้นทุกตอน ในการสอบสวนใครก็เข้าไปก้าวล่วงไม่ได้ แม้กระทั่ง ผบ.ตร.ก็เข้าไปสั่งคดีไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า และไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะไปยื่นฟ้องร้องเองตามกฎหมาย

 

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า เราเสียใจกับการสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าย้อนเวลาไปได้ ก็คงมีการจับกุมและฟ้องคดีให้ดีกว่านี้ แต่ในการดำเนินคดีมันเป็นเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วทุกอย่างมันมีขั้นมีตอน มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากทุกหน่วยงานอยู่แล้ว และมีการเปิดให้ตรวจสอบมาตลอด


ถ้าย้อนไปตั้งแต่ปี 2555 การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องข้อหาใดมันมีเหตุผล มีพยานหลักฐานสนับสนุน อะไรที่ยังคาใจของสังคมก็มีการตรวจสอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดอยู่แล้ว

 

ส่วนกรณี ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานจราจร สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ที่ถูกรถของนายวรยุทธชนเสียชีวิต กลับตกเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ในคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวสั้น ๆ ว่า ขออนุญาตไปตรวจสอบเอกสารก่อน

 

“เรื่องนี้ตำรวจเป็นฝ่ายสูญเสีย ตำรวจทุกคนเสียใจ แต่กระบวนการดำเนินการ การสอบสวน ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ใครบกพร่องอย่างไรก็ว่ากันไป และกระบวนการขั้นตอนก็มาตั้งหลายปี วันนี้เรามาชี้แจงกระบวนการของกฎหมาย เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง แล้วหลังจากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยคณะกรรมการมีความเห็นพ้อง ก็จบตามนั้น แต่ถ้าจะไปวิเคราะห์ทางอื่นว่าคุกมีไว้ขังใคร ไม่ใช่หรอก กฎหมายต้องเป็นกฎหมายอยู่แล้ว การลงโทษต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ และเรื่องนี้ยังสามารถฟ้องร้องได้ถ้ามีข้อมูลใหม่ ทางญาติผู้เสียหายที่มีข้อมูลใหม่ก็สามารถฟ้องเองได้อีก กฎหมายเรามีหลายช่องทาง จึงอยากให้เข้าใจถึงการอธิบายกระบวนการของแต่ละส่วน อย่าลืมว่าผู้สูญเสียในเรื่องนี้คือตำรวจ ประเด็นอื่นๆ เราก็ไม่ก้าวล่วง แม้แต่ความเห็นของแต่ละส่วน ซึ่งก็คงพิจารณาตามพยานหลักฐาน” รองโฆษก สตช. กล่าว


กมธ.กฎหมายฯสภา เตรียมเรียก อสส.-ผบ.ตร.มาให้ข้อมูล
ในวันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เบื้องต้นมีการพูดคุยกับคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปเห็นตรงกันว่าประชาชนสนใจและสังคมต้องการข้อเท็จจริงว่าเหตุใดอัยการถึงไม่สั่งฟ้อง และตำรวจก็ไม่ทำความเห็นแย้งด้วย 


ทั้งที่ความจริงก่อนหน้านี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช )ชี้มูลว่ามีตำรวจ จำนวน 5 คน กระทำผิดต่อหน้าที่ เนื่องจากช่วยเหลือคดีนี้ ฉะนั้น คณะกรรมาธิการกฎหมายฯ เห็นว่าเรามีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่จะสามารถเรียกอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และตำรวจที่ ป.ป.ช. มาให้ข้อมูลได้ จึงจะได้ทำหนังสือไปถึง โดยคาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ไม่วันที่ 29 ก.ค. 2563 ก็วันที่ 5 ส.ค. 2563 ขอยืนยันว่าคุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนเท่านั้น และตนจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ไปง่าย ๆ

 

ที่มา:สำนักข่าวอิศรา