‘ไทยรุ่ง’เปิดเกมรุกสู้ศึกตลาดรถลุยต่างประเทศ

06 ก.ย. 2559 | 09:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ไทยรุ่งฯส่งทีอาร์ ทรานส์ฟอร์เมอร์บุกตลาดต่างประเทศ เตรียมรุกกัมพูชา สิงคโปร์ คาดได้ข้อสรุปปลายปี ส่วนในประเทศเล็งพัฒนาและดีไซน์ขนาดเล็กลง หวังเจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิง พร้อมเปิดดีลเลอร์อีกแห่งรองรับลูกค้าอุบลราชธานี ด้านรับจ้างประกอบ เล็งปรับโมเดลด้วยการขอฟรีโซนเพื่อรองรับลูกค้าและเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขัน คาดได้ข้อสรุปใน2-3เดือนนี้

นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถปิกอัพดัดแปลง ทีอาร์ ทรานส์ฟอร์เมอร์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกทำได้900 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดว่าถึงสิ้นปีผลประกอบการจะอยู่ในระดับทรงตัว ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 2,200 ล้านบาท
“ตลาดส่งออกมีการชะลอตัว ทั้งตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้หยุดคำสั่งซื้อ ส่วนตลาดในประเทศก็เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวม อย่างไรก็ตามต้องรอดูสถานการณ์ในครึ่งปีหลังว่าจะเป็นอย่างไร”
สำหรับแผนงานของบริษัทในปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายทีอาร์ ทรานส์ฟอร์เมอร์ ได้ประมาณ 100 คัน แบ่งออกเป็นตลาดส่งออก ได้แก่ มาเลเซีย จำนวน 80 คัน และตลาดในประเทศ 20 คัน ส่วนเป้าหมายในปีนี้คาดว่าจะทำได้ 200 คัน แบ่งออกเป็นตลาดในประเทศ 100 คัน และ ส่งออก 100 คัน
“ตอนนี้มีคำสั่งซื้อจากมาเลเซียแล้วกว่า 60 คัน และแผนงานในปีนี้คือจะเข้าไปทำตลาดในกัมพูชา โดยจะแต่งตั้งอิมพอร์เตอร์ที่มีธุรกิจในกัมพูชาอยู่แล้ว และตอนนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา แต่เบื้องต้นจะนำรถไปโชว์ก่อน 3 คัน เป็นรถพวงมาลัยซ้าย ซึ่งความคืบหน้าในตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเงื่อนไขขั้นตอนต่างๆ คาดว่าปลายปีจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการรุกตลาดกัมพูชา นอกจากนั้นแล้วในช่วงต้นปีเรายังจะเข้าร่วมงานประมูลของกองทัพที่สิงคโปร์ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วสดใสและน่าจะได้รับความสนใจ”
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตลาดในประเทศ จะมีการนำทีอาร์ ทรานส์ฟอร์เมอร์เข้าไปจดกระบวนการสินค้านวัตกรรม กล่าวคือรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสินค้าที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาโดยคนไทย และมอบหมายให้หน่วยงานรัฐฯต่างๆจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณ 10-30 % ในการซื้อสินค้านวัตกรรม ซึ่งบริษัทมีความคาดหวังว่าสินค้าจะเข้าเงื่อนไข และทำให้ภาครัฐฯเลือกใช้แบรนด์ไทยรุ่ง อย่างไรก็ตามช่วงนี้อยู่ในระหว่างการขอยื่นเรื่องและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 4
นอกจากนั้นแล้วบริษัทยังอยู่ในระหว่างการปรับสินค้าให้รองรับฐานลูกค้าใหม่ๆ เนื่องจากรถมีขนาดใหญ่ อาจจะไม่ถูกใจกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มคนทั่วไปที่มองว่าขับลำบาก ดังนั้นจะพัฒนาให้สินค้าเล็กลง อาจจะเป็น 5 ที่นั่ง จากปัจจุบันมี 9 ที่นั่งและ 11 ที่นั่งให้เลือก คาดว่าจะได้เห็นกลางปีหน้า และถือเป็นทรานส์ฟอร์เมอร์ เจเนอเรชันที่ 2 ขณะที่แผนงานด้านเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ ปัจจุบันมีจำนวน 7 แห่ง และกำลังจะเปิดเพิ่มที่จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านแผนงานในหน่วยธุรกิจอื่นนั้น ได้เริ่มปรับโมเดลธุรกิจ โดยเฉพาะหมวดรับจ้างประกอบ จากเดิมที่มีการชะลอตัวตามสภาพอุตสาหกรรมรวม ช่วงนี้ตลาดเริ่มกลับมามีความต้องการ ซึ่งบริษัทได้เจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ 2 - 3 ราย เพื่อรับจ้างประกอบในเชิงพาณิชย์ ซึ่งแผนงานที่จะต้องทำเพื่อให้เกิดความได้เปรียบและแข่งขันได้ คือการเข้าไปอยู่ในเขตฟรีโซน โดยตอนนี้บริษัทได้ทำเรื่องขอสมัครเข้าไป ทั้งโรงงานที่หนองแขม กรุงเทพฯและโรงงานจังหวัดระยอง สำหรับโปรเจ็กต์นี้คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 - 3 เดือนถึงจะได้ข้อสรุป
“ได้ยื่นเรื่องขอใช้สิทธิฟรีโซนจากกรมศุลกากรไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3เดือนในการอนุมัติ ซึ่งหากได้ข้อสรุปก็จะทำให้เราสามารถผลิตได้เต็มกำลัง โดยโรงงานมีกำลังการผลิตแบบเต็มที่ 5หมื่นคันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตเพียง 1.5-1.8 หมื่นคัน”
นายสมพงษ์กล่าว “ถ้ารถไฟฟ้าเกิด ไทยรุ่งก็จะได้รับโอกาสเพราะเราพร้อมที่จะป้อนตัวถัง หรือร่วมประกอบรถไฟฟ้า”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559