EV จะเกิดได้ต้องสร้างดีมานด์

17 ส.ค. 2563 | 18:00 น.

เอกชน -บีโอไอ ชี้ EV จะเกิดต้องมีดีมานด์ "อีเอ" ย้ำชัดต้องเริ่มจากรถขนส่งมวลชน -รถราชการ พร้อมเสนอ 5 ข้อเร่งด่วน ขณะที่บีโอไอ รับมาตรการส่งเสริมยังไม่เพียงพอ เตรียมพิจารณาให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มรถจักรยานยนต์และกลุ่ม 3 ล้อ

วันที่ 17 สิงหาคม 2563 คณะกรรมาธิการพลังงานสภาผู้แทนราษฎรจัดงานสัมมนา"ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย"โดยเชิญเอกชน - นักวิชาการ -ตัวแทนภาครัฐ และมีนายบากบั่น บุญเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด  เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย  โดยเนื้อหาในการอภิปรายในครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมนำเสนอนโยบาย โรดแมป ข้อเสนอต่างๆในการผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้แจ้งเกิด


นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การสนับสนุนให้ EV เกิด หรือการผลักดันให้ไทย  ASEAN BEV Hub & Logistic Hub ต้องมีดีมานด์ในประเทศให้ได้ก่อน โดยต้องมีกระบวนการแบบเป็นระบบ เริ่มจากรถขนส่งมวลชน ,รถราชการ,รถแท็กซี่ ,ขนส่งพาณิชย์ ,อี-ไบค์ ,อี-ทรัค, รถส่วนบุคคล  


ดังนั้นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำ ประกอบไปด้วย 1.ยุทธศาสตร์ดึงดูดผู้ผลิตชั้นนำ 2.มาตรการส่งเสริมที่ครบทั้งระบบ 3. พัฒนา Core Strength เทคโนโลยี EV 4.บูรณาการการดำเนินงานและแก้ไขข้อติดขัด กฎเกณฑ์ 5. เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่าน

EV จะเกิดได้ต้องสร้างดีมานด์

"นโยบายการส่งเสริมต่างๆจำเป็นต้องครบทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและบริการระบบไฟฟ้า,ระบบไฟฟ้าและสายส่ง,เครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟา,ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า,ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างการให้เงินอุดหนุนผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ,ดอกเบี้ยต่ำ ,ยกเว้นค่าทางด่วน,มีช่องทางเดินรถพิเศษ"
 

นายสมโภชน์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในกรณีของ FTA ไทย-จีน ที่ภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าเป็น 0 %  โดยแนวทางแก้ไข ประกอบไปด้วย Non-Tariff Barriers ทำอย่างไรให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศสามารถเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันได้ ประการต่อมาคือดีมานด์ กล่าวคือต้องมี Economy of Scale ถ้าไม่มีก็สู้ไม่ได้ เพราะประเทศจีนผลิตรถปีละเป็นล้านคัน แต่ประเทศไทยแค่ไม่กี่คัน 

"ถ้าปล่อยเวลาให้นานออกไป เราตายแน่ๆดังนั้นตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องรีบเกิด ดีมานด์ก็ต้องรีบสร้าง เพื่อให้เกิดการลงทุนหรือขยายการลงทุนเพิ่มเติม ตรงจุดนี้เราต้องทำให้เร็ว เพื่อจะแข่งขันได้ "


ด้านนายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง FTA ไทย-จีน ว่า รัฐบาลอาจจะต้องกลับไปแก้ไขบางจุดที่แก้ได้ อาทิ ลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วน ตรงจุดนี้ก็ต้องไปศึกษาว่าได้หรือไม่ได้ เพราะหากมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนโดยใช้สทิธิประโยชน์ FTA ก็อาจจะกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ เพราะราคาสู้ไม่ได้ 


นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ  กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ ซึ่งบีโอไอกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงมาตรการใหม่ออกมาเพื่อขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะเดิมมีแค่รถยนต์ และรถบัส แต่ตอนนี้กำลังพิจารณาเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ (2 ล้อ) และ 3 ล้อ 


อย่างไรก็ตามยืนยันว่าหากอยากให้ยานยนต์ไฟฟ้ามีการขับเคลื่อนไปได้นั้น จะต้องมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดดีมานด์ ทำอย่างไรให้มีวอลุ่มเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยอยู่ 


ด้านดร.ยศพงษ์ ลออนวล  นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า โอกาสการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังมี เพราะถือเป็นช่วงเริ่มต้นของเทคโนโลยี ดังนั้นตอนนี้ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ในประเทศ และผู้ประกอบการใหม่ๆในต่างประเทศ ที่ไทยจะต้องดึงเข้ามาลงทุน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องทำให้นโยบายให้ต่อเนื่อง