EV ประชารัฐ โละรถเก่า 10 ปีจ่าย 1 แสนแลกซื้อรถพลังไฟฟ้า

11 มี.ค. 2563 | 07:11 น.

ชงรัฐบาลหนุนรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการรับซื้อรถเก่าอายุ 10 ปี มูลค่า 1 แสนบาท เพื่อให้เจ้าของนำเงินไปสบทบซื้อ อีวี หรือ ปลั๊ก-อินไฮบริด คันใหม่ ภายใต้โครงการ EV ประชารัฐ ส่วนวินมอเตอร์ไซค์รับซื้อรถเก่า 1.5 หมื่นบาท ให้ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่อีก 3 หมื่นบาท เคาะแคมเปญให้ดำเนินการภายในปี 2021-2023

วันนี้ (11 มี.ค.) คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เปิดประชุมนัดแรกมีรองนายก “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นประธาน พร้อมกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมยานยนต์ ร่วมหารือในมาตรการผลักดันให้เกิดการผลิตและการใช้รถยนต์-รถบัส-จักรยานยนต์ไฟฟ้า อย่างแพร่หลายหวังลดปัญหามลพิษ และ PM 2.5  พร้อมส่งเสริมความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย วางเป้าหมายผลิต xEV ให้ได้ 30% จากกำลังผลิต 2.5 ล้านคัน/ปี ในปี 2030

หนึ่งในมาตรการเร่งด่วนที่นำเสนอคือ โครงการEV ประชารัฐ ช่วงเวลาดำเนินการระหว่างปี คศ. 2021-2023 โดยให้สิทธิประโยชน์คือรับซื้อรถยนต์เก่า (อายุ 10 ปี) สูงสุด 100,000 บาท/คัน เพื่อนำเงินไปแลกเป็น รถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ หวังให้เกิดการซื้อ-ขาย รถปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) 25,000 คัน และ อีวีพลังงานไฟฟ้า 100% จำนวน 25,000 คัน

EV ประชารัฐ โละรถเก่า 10 ปีจ่าย 1 แสนแลกซื้อรถพลังไฟฟ้า

ในกลุ่มรถจักรยานยนต์ใช้ชื่อแคมเปญ “วินสะอาด” ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020-2023 เป้าหมายคือผู้ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่มีเสื้อวินเป็นชื่อตนเอง จำนวน 53,000 คัน ให้เปลี่ยนมาใช้ รถจักรยานยนต์ อีวี

สำหรับสิทธิประโยชน์คือ รับซื้อรถเก่า (10 ปี) 15,000 บาท/คัน  และชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง 10,000 บาท/คัน ภายในระยะเวลา 3 ปี และค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ 30,000 บาท/คัน ภายในระยะเวลา 6 ปี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 1-1/2563 ร่วมด้วยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรือง​กิจ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม​ เปิดเผยถึง ผลประชุมในครั้งแรกโดยมีหัวข้อสำคัญ 2 ข้อ ทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์​กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ และทำอย่างไรให้รถจักรยานยนต์ที่ปล่อยมลภาวะให้ปรับเปลี่ยน​มาเป็นพลังงานไฟฟ้า  

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงเรื่องแบตเตอรีที่มีข้อเสนอคือ นำเข้ามาก่อนเพื่อให้เกิดการใช้งาน จากนั้นจะส่งเสริมให้เกิดการผลิตแบตเตอรีในประเทศ และเพื่อสร้างความต้องการซื้อ รัฐบาล-เอกชนต้องทำแพลตฟอร์มร่วมกัน

"เป็นเรื่องไก่กับไข่ ที่เราต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิด ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีนำเข้า, ภาษีสรรพสามิต การผลักดันให้รถราชการ รถขนส่งมวลชนต่างๆ รถประจำตำแหน่ง วินมอเตอร์ไซค์​มาใช้ ส่วนไข่คือโครงสร้างพื้นฐาน​อย่างสถานีประจุไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่จะใช้รถพลังงานไฟฟ้า” ดร.สมคิด กล่าว