ตลาดรถ‘วูบ’ยอดขายปี63วืดเป้าล้านคัน

23 ม.ค. 2563 | 10:20 น.

ค่ายรถยนต์ช่วยกันดันยอดขาย 2 เดือนสุดท้ายปี 62 ปั๊มตัวเลขตลาดรวมทะลุ 1,005,267 คัน ลด 3.5% เทียบปี 61 โตโยต้า-มิตซูบิชิ ยอดบวก ขณะค่ายรถอื่นๆ ร่วงถ้วนหน้า

ตลาดรถยนต์เมืองไทยปี 2562 ขายได้ 1,005,267 คัน ลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับปี 2561 (1,041,753 คัน) โดยสถานการณ์ 2 เดือนสุดท้าย (พ.ย. และ ธ.ค. 62) ทุกค่ายรถยนต์เดินหน้าปั้นยอดขายเต็มที่ จนได้ตัวเลข 166,299 คัน ดันยอดเกิน 1 ล้านคันได้อย่างเฉียดฉิว

แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอดขายรวมปี 2562 ที่เกิน 1 ล้านคันมาเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หากไปดูยอดจดทะเบียนจริงๆอาจจะไม่ถึง

“ปีนี้ตลาดน่าจะทรงๆตัว แม้หลายค่ายรถยังหวังตัวเลขรวมถึง 1 ล้านคัน แต่เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ ยังไม่เห็นทิศทางเป็นบวก ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งกระทบกับการส่งออกของภาคเอกชน และความเข้มงวดของสถาบันการเงิน มองว่ายอดขายรถยนต์ปี 2563 ไม่น่าจะถึง 1 ล้านคัน” แหล่งข่าวกล่าว

ตลาดรถ‘วูบ’ยอดขายปี63วืดเป้าล้านคัน

 

 

 

จากยอดขาย 1,005,267 คัน มีเพียง 2 ค่ายรถยนต์ที่ทำตัวเลขเป็นบวก คือ โตโยต้า กับมิตซูบิชิ ส่วนแบรนด์อื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น และอเมริกายอดขายลดลง โดยอันดับ 1 โตโยต้า ขายไป 332,380 คัน โต 5.5% ตามด้วย อีซูซุ 168,215 คัน ลดลง 5.4% ฮอนด้า 125,833 คัน ลดลง 1.9% ส่วนมิตซูบิชิ 88,244 คัน โต 4.4%
นิสสัน 64,414 คัน ลดลง 11% มาสด้า 58,129 คัน ลดลง 17.5% ฟอร์ด 49,989 คันลดลง 24.3% ซูซูกิ 23,908 คัน ลดลง 16.1% และ เชฟโรเลต 15,161 คัน ลดลง 25.4%

เมื่อแบ่งยอดขายตามเซ็กเมนต์ต่างๆพบว่าปิกอัพ 1 ตัน ทำยอดขายได้ 431,702 คัน ลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยผู้นำในตลาดนี้คือโตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ตามมาด้วย อีซูซุ ดีแมคซ์ และฟอร์ด เรนเจอร์

เซ็กเมนต์ เอสยูวี และพีพีวี ทำยอดขายได้ 146,560 คัน ลดลง 3.3% โดยผู้นำของเอสยูวีตกเป็นของฮอนด้า เอชอาร์-วี ตามมาด้วย โตโยต้า ซี-เอชอาร์ และอันดับ 3 คือฮอนด้า
ซีอาร์-วี ขณะที่กลุ่มพีพีวี ผู้นำคือโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ อันดับ 2 คือมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต และอันดับ 3 อีซูซุ มิว-เอ็กซ์

ซีคาร์หรือคอมแพ็กต์คาร์ ทำยอดขายได้ 52,773 คัน ลดลง 6.7% ผู้นำในเซ็กเมนต์นี้คือ ฮอนด้า ซีวิค ตามมาด้วยโตโยต้า โคโรลล่า อัลติส และมาสด้า 3 ส่วนในเซ็กเมนต์ดีคาร์ หรือรถยนต์นั่งขนาดกลาง 17,853 คัน โต 111.3% โดยผู้นำในตลาดนี้คือ โตโยต้า คัมรี่ ตามมาด้วย ฮอนด้า แอคคอร์ด และนิสสัน เทียน่า

ปิดท้ายที่เซ็กเมนต์ บี-คาร์และอีโคคาร์ ทำยอดขายรวมได้ 276,837 คัน ลดลง 6.3% โดยในกลุ่มบี-คาร์ ผู้ที่ทำยอดขายเป็นอันดับ 1 คือ ฮอนด้า ซิตี้ ตามมาด้วย ฮอนด้า แจ๊ซ และอันดับ 3 โตโยต้า วีออส ด้านยอดขายเฉพาะกลุ่มอีโคคาร์พบว่า โตโยต้า ยาริส แฮตช์แบ็ก และยาริส เอทีฟ ครองยอดขายเบอร์ 1 -2 ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ มาสด้า 2 ซีดาน

 

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2562
ขณะนี้มียอดจองมากกว่า 8,000 คันแล้ว และถึงสิ้นเดือน
มกราคมปีนี้ จะส่งมอบได้ 5,000 คัน ขณะที่บางรุ่นบางสีอาจจะรอรถนาน 2-3 เดือน โดยรุ่นท็อป RS มีสัดส่วนการขาย 35%
รุ่น SV 45% จากยอดขายซิตี้ทั้งหมด

ด้านชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ฯ กล่าวว่า จากเศรษฐกิจไทยปี 2563 ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.8 - 3.0% ค่าเงินและเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ หากค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้จะกระทบสินค้าเกษตร รถยนต์ และท่องเที่ยว การผลิตอาจลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

“ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือสถานการณ์ทางการเมืองของไทยและสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้าระหว่างประเทศ อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงอาจส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทย ส่วนปัญหาภัยแล้งอาจกระทบภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมในห่วงโซ่” 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563