ศุลกากรยันไม่เก็บภาษีนำเข้าวัคซีน-อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกประเภท

11 ก.ค. 2564 | 12:43 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2564 | 20:02 น.

ศุลกากรยันรัฐยกเว้นภาษีนำเข้าวัคซีนทุกประเภทเหลือ 0% และมติครม.เห็นชอบให้ขยายเวลายกเว้นอากรศุลกากรนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จนถึงเดือนมี.ค.65

อธิบดีกรมศุลกากรแจงไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าวัคซีนทุกประเภทตามที่มีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ โดยปัจจุบันการนำเข้าวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ทั้งหมดอยู่แล้ว จะเหลือเพียงแค่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% เพียงอย่างเดียว ดังนั้นข่าวลือที่ออกมาว่ารัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นารวมแล้วสูงนับร้อยเปอร์เซนต์จึงไม่เป็นความจริง

ศุลกากรยันไม่เก็บภาษีนำเข้าวัคซีน-อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกประเภท

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่ากรมศุลฯ ไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าวัคซีนทุกประเภทตามที่มีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ โดยปัจจุบันการนำเข้าวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ทั้งหมดอยู่แล้ว จะเหลือเพียงแค่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวท) ที่ 7% เพียงอย่างเดียว ดังนั้นข่าวลือที่ออกมาว่ารัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีวัคซีนโมเดอร์นารวมแล้วสูงนับร้อยเปอร์เซนต์จึงไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ครม.ได้มติเห็นชอบให้ขยายเวลายกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาใช้ในการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียอากรนำเข้า จนถึงเดือนมี.ค.65 แต่ยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่       

 

ด้านรายงานข่าวจากกรมสรรพากรแจ้งว่า ถึงกระแสข่าวการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าวัคซีนทางเลือกของบริษัทเอกชน ถึง 2 เด้ง รวมเป็น 14% นั้นไม่ใช่ความจริง และเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถใช้ภาษีขายมาหักภาษีซื้อได้

 

“เมื่อผู้นำเข้าวัคซีนได้นำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า 7%  คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท ซึ่งในส่วนของภาษีซื้อนี้ ผู้นำเข้าสามารถขอคืนได้หรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้ด้วย ดังนั้นหากนำเข้ามาแล้ว ขายต่อโดยไม่คิดกำไร ก็จะขอคืนแวทได้ทั้งหมด แต่หากมีการนำเข้ามาแล้วขายทำกำไรก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้น”

 

ยกตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าวัคซีนได้นำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า 7%  คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท ซึ่งในส่วนของภาษีซื้อนี้ สามารถขอคืนหรือเอาไปหักออกจากภาษีขายได้ ดังนั้นเมื่อผู้นำเข้าขายวัคซีนออกไปในราคา 100 บาทเช่นกันโดยไม่มีการคิดกำไรเพิ่ม ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีขายที่ 7% หรือ 7 บาท ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณตามหลักภาษีมูลค่าเพิ่ม คือภาษีขาย 7 บาท หักด้วยภาษีซื้อ 7 บาท จะเท่ากับ 0 บาท ดังนั้นตามข่าวที่ว่าเสียภาษี2เด้ง ภาษีซื้อ 7 บาท บวกภาษีขายอีก 7 บาท รวมเป็น 14 บาท จึงไม่ถูกต้อง