BPP เดินหน้าขยายไฟฟ้าสู่ 5,300 เมกะวัตต์

23 ก.พ. 2564 | 03:47 น.

บ้านปู เพาเวอร์ เดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 คาดโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง พร้อมเปิดเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 64

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) เปิดเผยว่าบริษัทยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ผ่านยุทธศาสตร์ คือผนึกพลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปูฯ เพื่อต่อยอดการพัฒนาและดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศที่มีธุรกิจอยู่ เช่น สหรัฐ, มุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ผสมผสานระหว่างการลงทุนในโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดทันที กับการลงทุนแบบ Green Field ที่ต้นทุนต่ำกว่าและสร้างกำไรได้มากกว่า โดยใช้เทคโนโลยี (High Efficiency, Low Emissions: HELE) เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ ราคาที่เหมาะสม และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เพื่อเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้แข็งแกร่งและสอดรับกับกระแสพลังงานแห่งโลกอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจไฟฟ้าต่อไปได้ เช่น ลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการเติบโต ถึงแม้จะมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทยังสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง โรงไฟฟ้าทุกแห่งสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงพัฒนาการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าและการนำเอาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (HELE) เข้ามาใช้ 

อย่างไรก็ตาม บริษัทมุ่งบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าในจีน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น โดยโครงการยาบูกิ(Yabuki) ได้เริ่ม COD แล้วเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 อีกทั้งยังเตรียมพร้อมสำหรับลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อให้บรรลุการเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดยโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์นั้น อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้

ทั้งนี้ SLG เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Ultra-Supercritical ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (HELE) โดยผลิตไฟฟ้าคุณภาพผ่านสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง 1,000 กิโลโวลต์ (kV) ซึ่งจะมีคุณลักษณะส่งไฟฟ้าในระยะไกลและในปริมาณมาก โดยมีอัตราความสูญเสียต่ำ อีกทั้งยังสามารถผลิตไอน้ำส่งให้ชุมชนเมืองฉางจื้อ (Changzhi) ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าฯ เหล่านี้ล้วนตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาตลาดไฟฟ้าในจีนซึ่งมุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีเสถียรภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม