ก.ล.ต. เปิดยุทธศาสตร์ เพื่อตลาดทุนไทยเข้มแข็ง

12 ก.พ. 2564 | 03:43 น.

ก.ล.ต. เดินหน้าขับเคลื่อน 8 แผนยุทธศาสตร์ปี 2564 – 2566 ตอบโจทย์ 5 เป้าหมาย “ฟื้นฟูและเข้มแข็ง – ยั่งยืน – เข้าถึง – แข่งได้และเชื่อมโยง – เชื่อถือได้” ครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกมิติกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาตลาดทุน และแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปี 2564” ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของไทยให้มีความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างกิจการที่ต้องการเงินทุนและผู้ลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายกิจการ การจ้างงานการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของกิจการในประเทศ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป และที่ผ่านมา ก.ล.ต. ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐมาโดยตลอด 

 

ในส่วนของตลาดทุนมี 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้ (1) การอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหา COVID-19 สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ (2) การสร้างความเข้าถึงตลาดทุนทั้งการลงทุนและการระดมทุน เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ (inequality) ของประเทศ (3) การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุน (4) การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) โดยตลาดทุนสามารถขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล (ESG) และ (5) การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในมิติของการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. ต้องดูแลและให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้รู้เท่าทันและมีการบริหารความเสี่ยงด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว

ก.ล.ต. เปิดยุทธศาสตร์ เพื่อตลาดทุนไทยเข้มแข็ง

นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก.ล.ต. ได้วางยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ในปี 2564 – 2566 ให้สอดรับกับบทบาทดังกล่าว พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ(megatrends) รวมถึงรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน เพื่อมุ่งหวังที่จะตอบโจทย์ของประเทศและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรก.ล.ต. ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และสามารถขับเคลื่อนภารกิจได้

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2564 – 2566 ที่จัดทำขึ้นได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและโลกการเงินในยุคใหม่ อันนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยและหน่วยงานกำกับดูแล โดยกำหนด 5 เป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทุ่มเททรัพยากรได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟู เข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ (recovery & strengthening) และประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยน่าเชื่อถือและมีรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (resilience)

ก.ล.ต. เปิดยุทธศาสตร์ เพื่อตลาดทุนไทยเข้มแข็ง

“แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ในปี 2564 – 2566 ยังคง 4 เป้าหมายและ 7 ยุทธศาสตร์สำคัญจากแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 – 2565 โดยได้เพิ่มเป้าหมาย “ฟื้นฟูและเข้มแข็ง” และเพิ่มยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ เพื่อให้ตลาดทุนมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจาก COVID-19 รวมเป็น 5 เป้าหมาย 8 ยุทธ์ศาสตร์ ดังนี้ 

(1) การสร้างสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable capital market) 

(2) ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพทางการเงินในระยะยาว มีการออมและการลงทุนระยะยาวที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ (Financial well-being)

(3) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (SMEs & startups growth and financing)

(4) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Enabling regulatory framework & connectivity)

(5) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล (Digital for capital market) 

(6) เพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนไทย (Effective supervision & enforcement) 

(7) ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน (Systemic risk) 

(8) สร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและส่งเสริมการมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 (Supporting liquidity) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ