จำนำทะเบียนคึก เหตุแบงก์เข้มกู้

08 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

ธุรกิจจำนำทะเบียนรถตีปีก ลูกค้าแห่ไหลซบ เหตุแบงก์เข้มปล่อยกู้ แถมเจอพิษโควิด รายได้หด สมาคมฯคาดทั้งปีโตอุตสาหกรรม โต 18% สิ้นปีแตะ 1.8 แสนล้าน

ผลสำรวจแนวโน้มสินเชื่อไตรมาส 1 ปี 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า สถาบันการเงินมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นและเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน ส่วนสินเชื่อภาคครัวเรือน ยังมีความต้องการสภาพคล่อง ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและอุปโภคบริโภค แต่สถาบันการเงินกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อถือของผู้กู้รวมถึงความเสี่ยงของหลักประกัน

 

ขณะที่ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าคงทน กอรปกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีแนวโน้มปรับลดลงหลังการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มลดลง

 

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด และในฐานะอุปนายกสมาคมการค้าและผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (VTLA) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี2564 สมาคมประเมินการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 17-18% ยอดสินเชื่อสุทธิประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่า จะมียอดคงค้างสิ้นปีที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท เพราะช่วงเศรษฐกิจไม่เติบโตมาก  ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าและลูกค้านอกระบบต้องการสภาพคล่อง และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่สถาบันการเงินปฎิเสธการให้สินเชื่อ 

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

ดังนั้น แนวทางทำธุรกิจ แม้ตลาดยังมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่ต้องระมัดระวังในการอนุมัติเช่นกัน เพราะสัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่ม แต่ยังควบคุมได้

 

“ปีนี้เรายังเติบโตได้ แต่เหนื่อย เพราะต้องระมัดระวังเลือกลูกค้าได้บางราย หากไม่มีโควิดอาจจะเติบโตได้กว่านี้ ขณะที่การแข่งขันยังรุนแรง แต่อัตราดอกเบี้ยตํ่า จึงดึงดูดลูกค้านอกระบบเข้ามา”

 

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด(มหาชน)หรือ MTC กล่าวว่า บรรยากาศการปล่อยสินเชื่อเดือนมกราคมปีนี้ แตกต่างกับปีที่ผ่านมา หน้ามือเป็นหลังมือ จากช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ยอดสินเชื่อมักจะตํ่า เนื่องจากบริษัทหรือองค์กรจะมีโบนัสปลายปีให้กับพนักงาน ทำให้ความต้องการกู้เงินลดลง แต่ปี 2563 บริษัทบางส่วนปิดกิจการบ้าง ไม่มีเงินโบนัสบ้าง

 

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ

 

ดังนั้นจะมีพนักงานส่วนหนึ่งไม่มีเงินส่งกลับบ้าน จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ดี เฉพาะเดือน มกราคมโต 25% จากจำนวนสาขาที่มี 5,000 สาขา มียอดอนุมัติเกือบ 100% เพราะเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน,ที่อยู่ชัดเจนอย่างกลุ่มเกษตรกร และมีที่ทำงานชัดเจน

 

“ความต้องการใช้เงินของประชาชนปีนี้ยังมีสูง จากความจำเป็นที่ลำบากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดขึ้น บริษัทจึงมีกลยุทธ์ขยายธุรกิจให้บริการได้มากขึ้น โดยเปิดสาขาอีก 600 สาขา เพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อ 20% โดยได้ทยอยเปิดสาขาไปแล้ว 200 สาขา ขา ขณะที่ผู้เล่นหรือคู่แข่ง เป็นรายที่ทำตลาดอยู่แล้ว เช่น บมจ.ศักดิ์สยาม และกลางปีนี้เงินติดล้อจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังมีผู้เล่นในสมาคมอีก 10 รายที่เหลือเป็นผู้ประกอบการต่างจังหวัดๆ ละประมาณ 10ราย ทั้งจดทะเบียนนิติบุคคลและส่วนตัว” 

 

สิ้นปี 2563 คาดว่า จะมียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 7 หมื่นล้านบาทและแนวโน้มสิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท และบริษัทอยู่ระหว่างทดลองทำตลาดธุรกิจเช่าซื้อเปลี่ยนรถให้ลูกค้าเก่าที่ผ่อนชำระหนี้เก่าครบแล้ว เป็นช่วงเรียนรู้ติดต่อเอเยนต์,การผ่อนชำระ ซึ่งคาดหวัง 3-4 พันคนต่อเดือน เฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อคัน ซึ่งเฉพาะเดือนมกราคมเข้ามาแล้วเกือบ 3,000 คน เพราะมีฐานลูกค้าเดิม ถ้าลูกค้าชำระเงินกู้ครบต่อปี 10% จะมีลูกค้าหมุนกลับมาใช้สินเชื่อเช่าซื้ออีก ปัจจุบันฐานลูกค้ามีจำนวน 2.5 ล้านราย

 

“เอ็นพีแอลตอนนี้ 1.1% ตั้งเป้าไม่เกิน 2% โดยปีนี้พยายามจะควบคุมคุณภาพลูกค้า เพราะกลุ่มลูกค้า 90% เป็นเกษตรกร ซึ่งปีนี้ราคาพืชผลเกษตรดีขึ้น ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย จะเอื้อต่อการขอสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้”

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของลูกค้ายังมีอยู่ โดยในส่วนของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ปีนี้คาดหวังจะปิดยอดสินเชื่อได้ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายทุกอาชีพที่มีหลักประกันทะเบียนรถมอเตอร์ไซด์ที่รับโอนกรรมสิทธิแล้ว 1 เดือน ถ้าเป็นรถยนต์ต้องโอนกรรมสิทธิ์มาแล้ว 6 เดือน คิดดอกเบี้ยในอัตรา 21%ต่อปี เฉลี่ย 0.98%ต่อเดือน โดยจะพิจารณาจากรายได้ขั้นตํ่า 8,000 บาท/เดือน สำหรับลูกค้าอิสระทั่วไป และกลุ่มผู้ประกอบการพ่อค้า แม่ค้า กำหนดรายได้ที่ 4 หมื่นบาท/เดือน โดยเน้นจุดขายให้วงเงินใหญ่  7 แสนบาท ได้รับวงเงินภายใน 2 ชั่วโมง 

เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี

 

“เคทีซีพี่เบิ้มตั้งใจจะบุกสินเชื่อ 2 กลุ่ม ทั้งสินเชื่อมอเตอร์ไซด์และรถยนต์ เพราะไม่ห่วงเรื่องดีมานด์ลูกค้า ปีนี้เน้นดูความเสี่ยง อาชีพและประวัติด้วย ที่ผ่านมาเราเป็นขวัญใจลูกค้าที่กู้กับสถาบันการเงินอื่นไม่ผ่านแล้วมาที่เรา ซึ่งช่วงทดลองทำตลาด ผลตอบรับดีมียอดอนุมัติ 180 กว่าล้านบาท โดย 90% เป็นจำนำทะเบียนรถยนต์ แต่มอเตอร์ไซด์เพิ่งทำตลาด วงเงินเฉลี่ยที่ผ่านมา ลูกค้าได้รับ 2 แสนบาทพอร์ตเรายังใหม่ จึงยังไม่มีเอ็นพีแอล” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“จำนำทะเบียนรถ” เดือด "ออมสิน" ทุ่ม 1.5 พันล้านร่วมทุนเอกชน

บจ.แห่ยื่นขอไลเซนส์สินเชื่อ จำนำทะเบียนรถ ชิงเค้ก  2 แสนล้าน

MTC มั่นใจผลงานครึ่งปีหลังโตแกร่ง

MTC ขายเกลี้ยงหุ้นกู้ 4 พันล้านบาท เตรียมนำเงินรองรับแผนปล่อยกู้ 

เก็งกำไร KBANK-KTC