ธปท.ผ่อนเกณฑ์NRBAดึงธุรกรรมเงินบาทต่างประเทศเข้าไทย

05 ม.ค. 2564 | 23:10 น.

ธปท.ผ่อนเกณฑ์NRBA หวังดึงธุรกรรมเงินบาทต่างประเทศเข้าไทยสร้างสมดุล"FX Ecosystem" เล็งเพิ่มผู้เล่นในตลาด

ธปท.ผ่อนเกณฑ์NRBA หวังดึงธุรกรรมเงินบาทต่างประเทศเข้าไทยสร้างสมดุล"FX Ecosystem" เล็งเพิ่มผู้เล่นในตลาด

ธปท.เดินหน้าผลักดันระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem)ในไทยให้เกิดความสมดุลมากขึ้นโดยออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่4 ม.ค.2564เรื่องการผ่อนคลายมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทสำหรับนิติบุคคลต่างประเทศภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC)

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศ (onshore) ได้คล่องตัวขึ้น ภายใต้โครงการ NRQCนั้นเป็นมาตรการต่อเนื่อง ตามที่ได้ผ่อนคลายไปแล้ว 3 มาตรการก่อนหน้าทำไปแล้ว 3 เรื่อง คือ การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ หรือ FCD การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการลงทะเบียนซื้อขายตราสารหนี้ เพราะต้องการสร้างระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) โดยครั้งนี้NRQCเป็นโครงการที่เปิดให้นิติบุคคลต่างประเทศหรือธุรกิจต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยเพื่อให้คล่องตัวขึ้น  ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการNRQCสามารถบริหารความเสี่ยงค่าเงินบาทได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐาน และ มีขอบเขตการทำธุรกรรมที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันสามารถบริหารสภาพคล่องเงินบาทได้คล่องตัว โดยไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาท สำหรับผู้มีถิ่นที่ อยู่นอกประเทศ (Non-resident Baht Account : NRBA) จากเดิมจำกัดยอดคงค้างไว้ไม่เกิน 200 ล้านบาท

“โครงการNRQC เปิดให้นิติบุคคลต่างประเทศสามารถทำธุรกรรมในประเทศได้ง่ายขึ้นจากเดิมมีหลักเกณฑ์เยอะแยะ ทำให้เกิดธุรกรรมในต่างประเทศเยอะ ส่งผลให้เราไม่เห็นข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้การออกแบบมาตรการทำได้ยาก ธปท.จึงอยากให้นักลงทุนเข้ามาทำธุรกรรมในประเทศ และผ่อนคลายและปรับหลักเกณฑ์

หากพิจารณาช่วง 5ปีที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยภายนอกมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทถึง 85%โดยมีเพียง 15% ที่ได้รับผลจากปัจจัยภายในประเทศ ขณะที่ปริมาณธุรกรรมเงินบาทช่วง 10ปีที่ผ่านมา(2553-2564) สัดส่วนที่ไปทำธุรกรรมเงินบาทในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 21%เป็นประมาณ 61%

"สัดส่วน 61%ของธุรกรรมเงินบาทอยู่ที่ตลาดต่างประเทศเราจึงมองไม่เห็นธุรกรรมทั้งหมดฉะนั้นมาตรการที่เราพยายามออกมาหรือสิ่งที่จะมาสนับสนุนการทำธุรกรรมให้ตรงจุดทำได้ลำบากและมาตรการที่เราพยายามจะทำไปไม่ถึงเพราะธุรกรรมอยู่ในตลาดต่างประเทศ"

ดังนั้น การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างเงินขาเข้าและเงินขาออก รวมถึงธปท.สามารถติดตามธุรกรรม และออกแบบมาตรการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 นอกจากนี้ในอนาคตจะมีมาตรการเพิ่มเติม  เช่น ขยายผู้ประกอบการและผู้เล่นให้มีความหลากหลายส่วนหนึ่งเพื่อเสิร์ฟคนที่ไม่ใช่ทาร์เก็ตของธนาคาร เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่พบว่า การทำธุรกรรม FX ในภาพรวมยังมีต้นทุนที่สูง สาเหตุมาจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทยผู้ให้บริการด้านอัตราแลกเปลี่ยน 99% เป็นธนาคารที่เหลือเป็นนันแบงค์มีสัดส่วนน้อยเพียง 1%

ธปท.พยายามทำ โดยการทบทวนใบอนุญาต (License) เพื่อขยายขอบเขตให้ผู้เล่นบางประเภท เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และผ่อนคลายเกณฑ์การโอนเงินไปต่างประเทศหรือซื้อหรือลงทุนในหลักทรัพย์บางประเภท ซึ่งปัจจุบันยังมีการควบคุมอยู่ ตลอดจนการเปิดให้บริการใหม่ๆ ผ่าน Digital Platform เป็นต้น

 การสร้าง FX Ecosystem เราต้องปรับทุกอย่างซึ่งอาจจะไม่เห็นผลวันนี้ พรุ่งนี้ แต่จะมีผลต่อเงินบาทในระยะยาว และต้องเกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน และผู้นำเข้าและส่งออก จะต้องเรียนรู้เครื่องมือ และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือภายหลังต้นทุนที่ต่ำลง และหากนักลงทุนสถาบันและรายย่อยมีความมั่นใจขึ้นจะสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ดีขึ้น

ธปท.ผ่อนเกณฑ์NRBAดึงธุรกรรมเงินบาทต่างประเทศเข้าไทย

นางสาวภาวิณี   จิตมงคลเสมอ  ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดเงิน ธปท.กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจรวมทั้งตลาดและส่งผลต่อค่าเงินบาท ได้แก่ 1.คนไทยลงทุนในประเทศน้อยรวมทั้งการออกไปลงทุนต่างประเทศน้อยซึ่ง10 ปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจาก 21%บางช่วงติดลบและปัจจุบันลดเหลือไม่ถึง 17% ขณะที่ภาครัฐยังไม่เห็นการลงทุนเพิ่มจากสัดส่วนเดิมอยู่ที่ 6% ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ย 8%ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  2.ผู้ประกอบการไทยมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าเงินค่อนข้างสูง แต่ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีการป้องกันความเสี่ยงต่ำโดยผู้นำเข้าป้องกันความเสี่ยงเพียง 1 ใน 4 ของธุรกรรมที่นำเข้า ส่วนผู้ส่งออกมีสัดส่วนป้องกันความเสี่ยงเพียง 1 ใน 5 หรือ 19 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์โดยในสัดส่วน 19% นั้นเป็นการป้องกันความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่ถึง 56%แต่ผู้ประกอบการ SME อย่างป้องกันความเสี่ยงน้อย

ส่วน ปัญหาเชิงโครงสร้างข้อที่ 3การป้องกันความเสี่ยงมีต้นทุนที่แพง เช่น การโอนเงินไปต่างประเทศจะเสียค่าธรรมเนียมการแลกเงินและค่าธรรมเนียมการโอนประมาณ 6-7% หากเทียบกับประเทศอื่นจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 2-3% โดยสาเหตุมาจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทยมีธนาคารเป็นผู้ให้บริการในสัดส่วนถึง 99% ดังนั้นถ้าสามารถเพิ่มผู้เล่นให้มีความหลากหลายขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับบริการที่ดีและมีต้นทุนที่ต่ำลงได้บ้าง

4.การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกค่อนข้างมากโดยปัจจัยภายนอกมีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทถึง 85%ซึ่งมีเพียง 15% ที่ได้รับผลจากปัจจัยภายในประเทศ