5 เทคโนโลยียืนยันตัวตน

04 ธ.ค. 2563 | 06:25 น.

ความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องมาพร้อมพัฒนาเทคโนโลยี ธนาคารพาณิชย์ ต่างยกระดับการยืนยันตัวตน มาให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

เทคโนโลยียิ่งพัฒนารุดหน้าไปไกลแค่ไหน ความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภคก็สำคัญเท่านั้น เพราะเราก็เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมามักมีบรรดาแฮกเกอร์แข่งกันปล่อยของอย่าง มัลแวร์และแรนซัมแวร์ระบาดไปทั่วโลก สร้างความเสียหายให้ภาคอุตสาหกรรมและองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่ต้องหยุดชะงักลง

 

ธนาคารทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัยการทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลมากขึ้น(Digital Banking Security) ซึ่ง เทคโนโลยีการยืนยันตัวตน คือ เครื่องมือที่ช่วยยกระดับการให้บริการของธนาคารที่ให้ความมั่นใจ ความปลอดภัย และความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ไปพร้อมๆ โดยไม่ขอพูดถึงระบบการสแกนลายนิ้วมือ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่หลายคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว 

 

1.ระบบการสแกนม่านตา(Iris Scanner) 

หลักการทำงานของ Iris Scanner จะอาศัยกล้องและแสงอินฟราเรด (IR LED) ทำงานร่วมกัน โดยกล้องจะเก็บภาพจากแสงอินฟราเรดที่สะท้อนบนม่านตา เพื่อจดจำภาพม่านตาของผู้ใช้งานแต่ละคน แม้ว่าการสแกนม่านตา จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีไบโอเมตริกที่มีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการสแกนลายนิ้วมือหรือการจดจำด้วยเสียง แต่ที่ผ่านมา ยังมีแฮกเกอร์รายหนึ่งประกาศว่า เขาสามารถตบตา Iris Scanner ได้สำเร็จ ทำให้เทคโนโลยีนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างอยู่มาก

 

2.ระบบการจดจำด้วยเสียง(Voice Recognition Security System)

เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนด้วยเสียง หรือการจดจำเสียงของผู้ใช้งานเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีแบบไบโอเมตริก (biometric) หรือการแยกแยะตัวตนผ่านคุณลักษณะจำเพาะของบุคคลนั้นๆ แต่เทคโนโลยีนี้ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ เนื่องด้วยเสียงอาจยังไม่สามารถแยกแยะความต่างได้ชัดเจน เพราะเคยมีการทดลองใช้งานด้วยการให้ฝาแฝดคู่หนึ่งโทรเข้าไปขอรับบริการ โดยให้ฝาแฝดคนที่ไม่ได้มีบัญชีเป็นคนพูด ผลปรากฏว่า แฝดที่ไม่มีบัญชีสามารถเข้ารหัสด้วยเสียงของเขาแบบผ่านฉลุย แม้ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารก็ตาม ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของการใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยเสียงนี้


 5 เทคโนโลยียืนยันตัวตน

3. ระบบการยืนยันตัวตนด้วยเส้นเลือดดำ(Palm Vein Pattern Authentication)

เมื่อระบบการสแกนลายนิ้วมือยังมีข้อบกพร่อง เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนด้วยเส้นเลือดดำจึงถือกำเนิดขึ้นมา

Palm Vein Pattern เป็นรูปแบบการยืนยันตัวตนที่อาศัยการสแกนเส้นเลือดดำบนฝ่ามือของผู้ใช้ที่ให้ความแม่นยำสูงและปลอดภัย ฝั่งตัวผู้ใช้เองก็ไม่จำเป็นต้องไปสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านค่าลักษณะเส้นเลือดโดยตรงด้วย เพราะรูปแบบเส้นเลือดดำถือเป็นอัตลักษณ์ทางกายภาพที่ไม่สามารถลอกเลียนหรือปรับเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ เทคโนโลยีนี้ยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดได้อีกด้วย 

 

4. ระบบการระบุพิกัด(Geolocation) 

เป็นเทคโนโลยีเพียงรูปแบบเดียวที่ไม่เข้าพวกเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้จัดอยู่ในรูปแบบไบโอเมตริก แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการยืนยันตัวตนที่น่าจะให้ความปลอดภัยและความสบายใจแก่ผู้บริโภคได้ดีไม่แพ้กัน หรืออาจจะดีกว่าไบโอเมตริกบางรูปแบบด้วยซ้ำไป  

Geolocation อาศัยการทำงานด้วยการระบุพิกัดของผู้ใช้งานแบบออนไลน์และเรียลไทม์ เพื่อใช้ยืนยันตัวตันและจดจำบุคคล ซึ่งให้ความแม่นยำสูงกว่าไบโอตริก  

 

5. ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition)

ค่ายผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกอย่าง Apple ได้นำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเข้ามาแทนที่การสแกนลายนิ้วมือแล้ว และในอนาคตอันใกล้นี้ สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จะหันมาใช้ระบบนี้กันแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคผู้ให้บริการธนาคารและแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมบนมือถือแน่นอน 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรานั่นเอง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

E-money Cryptocurrency E-currency ความเหมือนที่แตกต่าง

โทเคนดิจิทัล แหล่งระดมทุนใหม่ภาคอสังหาฯ 

เปิดทางตั้ง NDID เพิ่ม หวังฉุดค่าต๋งลง

Life Settlement อีกนวัตกรรมการลงทุน

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,632 วันที่ 3 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563