สรรพากร ไล่บี้เก็บภาษี ยูทูปเบอร์

15 พ.ย. 2563 | 03:08 น.

สรรพากร เร่งหารายได้เพิ่ม เอาจริงพวกหลบเลี่ยง-ยังไม่รู้ว่าต้องยื่นภาษีทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้ยูทูปเบอร์ หวังดันรายได้โตตามเป้า

กรมสรรพากร ไล่บี้เก็บภาษี ยูทูปเบอร์- เหตุยังมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นเสียภาษีเพียง 4.5แสนราย ซึ่งต่ำกว่ากิจการที่ยื่นจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดสิ้นปีดึงเข้าระบบกว่า 1แสนราย พร้อมเร่งขยายฐานดึงคนเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 5แสนราย แจงยังมีคนขาดความรู้อยู่นอกฐานภาษีถึง 6ล้านคน โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2563มีผู้ชำระภาษีจริงเพียง 3.3ล้านคนจากที่ยื่นเสียภาษี 9.55ล้านคน


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.0853 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย การรักษาฐานการจัดเก็บรายได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 40% ของรายได้รวมของกรม ให้ได้ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีการบริโภคสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้ง ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บภาษี VAT เป็นไปตามเป้าหมาย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสรรพากร เรียกเก็บภาษีจากวัด ไม่จริง

กรมสรรพากรคืนภาษีบุคคลธรรมดาจำนวน 33,145.82 ล้านบาท

"กรมสรรพากร” ผนึก “ธพว.”-“IEC” รีบูต “เอสเอ็มอี” ท่องเที่ยวหนุนทำ "บัญชีเดียว" เข้าแหล่งทุน

คปภ.ผนึกกรมสรรพากรขับเคลื่อนมาตรการภาษีส่งเสริมประกันสุขภาพเพื่อปชช.

รวมไปถึงการเร่งขยายฐานการจัดเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเงินได้นิติบุคคลให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่ายังมีผู้ที่ยังหลบเลี่ยง หรือขาดความรู้ว่าต้องเสียภาษียังไม่เข้าสู่ระบบภาษีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบุคคลธรรมดา ที่ในปีงบประมาณ 2563 ยื่นเสียภาษีเพียง 9.55 ล้านคน และชำระภาษีจริงเพียง 3.3 ล้านคน ซึ่งยังมีกลุ่มคนที่อยู่นอกฐานภาษีอีกถึง 6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้กรมได้ตั้งเป้าจะดึงกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ระบบภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 คนให้ได้


“ทุกวันนี้ มีคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์แต่ยังไม่เคยยื่นภาษี ทั้งที่หลบเลี่ยง กับคนที่ไม่เข้าใจ ขาดความรู้ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขายออนไลน์และทั่วไป รวมถึงยูทูปเบอร์ต่างๆ ด้วย หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ คนกลุ่มนี้ก็ต้องยื่นภาษี ซึ่งปัจจุบันกรมกำหนดว่า หากมีรายได้ประจำต่อเดือน เดือนละ 10,000 บาท หรือปีละ 120,000 บาท หรือ รายได้จากค่านายหน้า ค่าเช่าเกินปีละ 60,000 บาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายได้ และหากมีรายได้เดือนละ 25,000 บาท หรือปีละ 300,000 บาท จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ”นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวว่า การยื่นแบบเสียภาษีนั้น ไม่ได้วัดกันที่อายุของผู้ยื่น จะพิจารณาจากฐานรายได้เป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่สามารถสร้างรายได้ มีอายุน้อยลงแล้ว โดยกลุ่มคนเหล่าก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน ซึ่งกรมสามารถตรวจสอบได้ เพราะได้มีการนำระบบ Big Data มาใช้ ในการตรวจสอบและประเมินผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี 

 

ส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด.50/51 นั้น กรมก็จะขยายฐานภาษียังกลุ่มนี้เช่นกัน เพราะในปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ประกอบธุรกิจเข้ามายื่นเสียภาษีเพียง 450,000 ราย เท่านั้น ต่ำกว่าตัวเลขการยื่นจดทะเบียนบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีประมาณ 600,000 ราย ดังนั้นในปีนี้จะพยายามดึงกลุ่มที่เหลือกว่า 100,000 รายดังกล่าว กลับเข้าสู่ระบบภาษีให้หมด โดยกรมได้เชื่อมระบบกับกรมพัฒฯ เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทใดยังทำการหรือยกเลิกกิจการไปแล้ว 

ขณะที่การจัดเก็บรายได้ภาษีในเดือนต.ค.2564 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 สามารถจัดเก็บได้ 107,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุมาจากการเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีในปี 2563 และการเปิดให้ผ่อนชำระภาษีได้นานถึง 3 เดือน ทำให้มียอดรายได้ภาษีที่รับรู้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ 


ทั้งนี้แผนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่สั่งให้มีจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.0853 ล้านล้านบาทให้ได้