คลัง สั่ง สรรพสามิต ศึกษาเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า

13 พ.ย. 2563 | 05:40 น.

รมว.คลัง สั่ง สรรพสามิต ศึกษาเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานฉลากเบอร์ 5 หวังดันผู้ผลิตทำแบบประหยัดไฟฟ้าได้สูงขึ้น พร้อมสั่งหาช่องทางลดภาษีรถยนต์ไฮบริดเพิ่ม

                ภายหลังจากการตรวจเยี่ยมกรมสรรพสามิต นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ 2564 ตามเอกสารงบประมาณที่ 630,000 ล้านบาท ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย เพื่อลดความรั่วไหล และให้การจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากดูจากตัวเลขการจัดเก็บในเดือนต.ค. ที่เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา ก็เกินเป้าแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าทั้งปีจะจัดเก็บได้ใกล้เคียง หรือต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อยได้

                 ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้ไปศึกษาถึงการจัดเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะภาษีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ที่ต้องศึกษาถึงแนวทางการใช้ภาษีเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นเบอร์ 5+ ซึ่งจะทำให้การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งระบบมีมาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งในอนาคตจะส่งผลดีต่อต้นทุนการใช้ไฟฟ้าของประชาชนด้วย

                รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ภายในประเทศเพิ่มเติมจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับผู้ประกอบการที่ผลิต EV เต็มรูปแบบ ด้วยการลดภาษีให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริดด้วย เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยให้เข้าไปดูว่ามีองค์ประกอบของชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าส่วนใดที่สามารถลดภาษีได้อีก ซึ่งสุดท้ายจะนำมาซึ่งราคาที่ถูกลง ก็จะจูงใจให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นได้

                 นอกจากนี้ยังให้ไปศึกษาการจัดเก็บภาษีเพื่อสุขภาพด้วย โดยเฉพาะภาษีความเค็ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าการศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีดังกล่าว เป็นหนึ่งในกลไกที่จะทำให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าที่มีความเค็มสูงลงได้

                “ทุกอย่างที่บอกมา ยังไม่ได้จะให้จัดเก็บภาษีในช่วงนี้ แต่ให้ศึกษาไว้ก่อน เพราะแกนหลักของภาษี คือการที่จะต้องส่งผลดีกับสุขภาพประชาชน ทั้งการกิน และการใช้ชีวิต โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้นจึงให้ไปดูว่ามีมาตรการภาษีอะไรที่จะทำได้บ้าง”นายอาคมกล่าว

                  ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเกินเบอร์ 5 ในปัจจุบันนั้น ได้ทำมาตลอด จากการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น 0% ทั้งหมดมานานแล้ว แต่เพื่อให้การผลิตสินค้าที่ประหยัดพลังงานได้สูงขึ้นเกินเบอร์ 5 นั้น ก็อาจจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริมมากขึ้น โดยไม่ได้มีเพียงการปรับขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว แต่จะมีทั้งการสิทธิพิเศษ หรือการให้รางวัลกับผู้ประกอบการที่ผลิตได้เกินเบอร์ 5 ได้ด้วย ซึ่งกรมได้รับการบ้านมา และจะไปศึกษาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง

                  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณ 10% ของผู้ผลิตทั้งหมด ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 แบบมี 3 ดาว ซึ่งประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าสูงกว่าเบอร์ 5 ปกติ แต่หลังจากนี้ไป กรมจะพยายามผลักดันให้เกิดการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 แบบมี 3 ดาวให้มากขึ้นให้ได้

                 “ทุกวันนี้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามีฉลากเบอร์ 5 กันหมด เป็นมาตรฐานปกติแล้ว แต่ก็มีแบบเบอร์ 5 จำนวน 1 ดาว 2 ดาว และ 3 ดาว ซึ่งแบบ 3 ดาว มีน้อยเพียง 10% เท่านั้น เราอาจต้องดูว่าจะทำยังไงให้ผลิตแบบ 3 ดาวให้มากขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การขึ้นภาษีเท่านั้น อาจจะเป็นการให้เป็นเงินรางวัลกับผู้ประกอบการได้”นายลวรณ กล่าว

                  ส่วนการใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV นั้น กรมจะต้องหารือกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(BOI) กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะจะต้องดูโครงสร้างทั้งระบบ เช่นเดียวกับการขึ้นภาษีบุหรี่ ที่ต้องดูให้รอบคอบ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ยืนยันจะไม่ขยายเวลาการขึ้นภาษีที่จะสิ้นสุดในเดือนก.ย.2564 อีกแล้ว โดยจะมีการใช้อัตราใหม่แน่นอน แต่จะเป็นเท่าไร แบบใดนั้น ต้องรอผลการศึกษาอย่างเป็นทางการก่อน