งบรายจ่ายปี 64 สะดุดใช้ไม่ทัน 1 ต.ค.นี้ โครงการลงทุนใหม่สะเทือน

13 ก.ย. 2563 | 08:17 น.

สำนักงบฯ ส่งหนังสือด่วน แจ้งงบรายจ่ายปี 2564 ใช้ไม่ทัน 1 ต.ค.นี้ ให้ส่วนราชการใช้งบปี 63 ไปพลางก่อน ยันไม่กระทบเงินเดือนข้าราชการ แต่โครงการลงทุนใหม่ต้องชะลอออกไปก่อน

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 กันยายน 2563 แจ้งให้หน่วยงานราชการทั่วประเทศ ทราบว่าด้วยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศ ใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

 

กรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณ รายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน ประกอบกับ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณกําหนดโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี

 

"บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน ตามที่ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณกําหนดแล้ว และผู้อํานวยการ สํานักงบประมาณได้กําหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังกล่าวได้ ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป"

งบรายจ่ายปี 64 สะดุดใช้ไม่ทัน 1 ต.ค.นี้ โครงการลงทุนใหม่สะเทือน

รายงานข่าวเปิดเผยว่าสาเหตุที่งบประมาณ 2564 ที่ใช้ไม่ทันกำหนด 1 ตุลาคม 2563 เนื่องจากความล่าช้าในการพิจารณางบประมาณในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ 2564 สภาผู้แทนราษฎร ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ฐานเศรษฐกิจได้รับการยืนยันว่า แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปี 2564 จะมีผลบังคับใช้ไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่จะไม่กระทบกับการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการและพนักงาน รวมถึงโครงการลงทุนเก่าที่ก่อหนี้ผูกพันมาจากงบประมาณปีก่อนหน้า แต่การลงทุนโครงการใหม่ยังลงทุนไม่ได้จนกว่างบประมาณจะมีผลบังคับใช้

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน มีรายละเอียดที่สำคัญ คือ ให้สํานักงบประมาณมีอํานาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณ ใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพัน ภายใต้กรอบวงเงินของแผนงานและรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงที่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ รายจ่าย พ.ศ. 2563 ดังนี้

  • งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของงบประมาณรายจ่าย งบกลางแต่ละรายการ
  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ ของแต่ละแผนงาน ที่ตั้งไว้สําหรับหน่วยรับงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของงบประมาณ รายจ่ายแต่ละแผนงานบูรณาการ ที่ตั้งไว้สําหรับหน่วยรับงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของงบประมาณรายจ่าย แผนงานบุคลากรภาครัฐ ที่ตั้งไว้สําหรับหน่วยรับงบประมาณ
  • งบประมาณรายจ่ายสําหรับทุนหมุนเวียน จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของ งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สําหรับกองทุนหรือทุนหมุนเวียนนั้น
  • งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชําระหนี้ภาครัฐ จัดสรรให้ได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ของ งบประมาณรายจ่ายแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ที่ตั้งไว้สําหรับหน่วยรับงบประมาณนั้น
  • ให้สํานักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้ เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ได้เฉพาะเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการที่จ่ายแก่ ประชาชน ในวงเงินไม่เกินหนึ่งในสี่ของงบประมาณที่เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น

กรณีมีความจําเป็นต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กําหนด ให้สํานักงบประมาณมีอํานาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายได้ตามความจําเป็นเฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

  • เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล
  • ต้องดําเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทําไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงิน ระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
  • มีความจําเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดําเนินการจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

อ่าน หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน ฉบับเต็ม ที่นี่คลิก

ที่มา: สำนักงบประมาณ