หวั่น "เงินเยียวยา" หมดฤทธิ์ดึงไทยสู่ภาวะ "เงินฝืด"

11 มิ.ย. 2563 | 23:30 น.

หวั่น "เงินเยียวยา" หมดฤทธิ์ จับตาเงินเฟ้อพื้นฐาน หลังพ.ค. ปริ่มเกือบติดลบ แนะดึงคนใช้จ่ายเพิ่มผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ห่วง เศรษฐกิจไตรมาส 3 ทรุดหัก เหตุเงินเยียวยาหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ติดลบ 3.44% เป็นการลดลงตํ่าสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน และยังเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิค สาเหตุส่วนหนึ่งจากมาตรการเยียวยาช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่านํ้า ค่าไฟฟ้าและลดราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพด้วย

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทยหรือ TMB Analytics เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ภาวะเงินฝืด จะสะท้อนว่า ไม่มีกำลังซื้อที่แท้จริง (Real Demand) ที่จะมาทำให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ควรดูช่วงนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบมากสุดในรอบ 10 ปีก็ตาม เพราะมีปัจจัยทั้งเรื่องราคานํ้ามันและมาตรการรัฐ โดยควรดูที่เงินเฟ้อพื้นฐานมากกว่า ซึ่งก็ยังไม่ติดลบ โดยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 0.01% แต่ถ้าเงินเฟ้อพื้นฐานจาก 0.01% เกิดติดลบ 3เดือน ก็คงจะสะท้อนแล้วว่า ไม่ใช่แค่ราคานํ้ามันลดลง แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า เข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ 

ดังนั้นแนวทางที่จะหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ต้องกระตุ้น Real Demand ต่อยอดจากการอัดฉัดเม็ดเงินที่ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการเยียวยาไปแล้วคือ ทำอย่างไรให้เม็ดเงินหมุนไปสู่การจับจ่าย เพื่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ(Multiplier effect) เพราะหากเงินที่ได้อัดฉีดไป ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินภาษีที่ลดลง ถ้าไม่นำมาใช้จ่าย ก็จะค้างเป็นสภาพคล่องอยู่ในระบบหรือเรียกว่า กับดักสภาพคล่อง คือนำเงินไปเก็บออม เงินก็จะฝืดต่อไป รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการใช้จ่ายภาครัฐ หากเดินหน้าต่อ หลังการควบคุมโควิด-19 จะช่วยพยุงเรื่องเงินฝืดได้ด้วย

หวั่น \"เงินเยียวยา\" หมดฤทธิ์ดึงไทยสู่ภาวะ \"เงินฝืด\"

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองกล่าวว่า ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริง แต่เป็นเพียงทางเทคนิค เพราะไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจถดถอย แต่เกิดจากวิกฤติโควิด ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบ รวมถึงไทยด้วย ดังนั้นการเกิดภาวะเงินฝืด จึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด 

“เงินฝืดไม่ได้ทำให้จีดีพีติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เพียงแต่ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าทุกๆ ประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมารวมถึงไทยด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่า รัฐบาลรับมือได้ และจะไม่ทำให้เศรษฐกิจตกตํ่าติดต่อกันนานเกินไป จนเกิดภาวะเงินฝืดอย่างจริงจังขึ้นมาได้”นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า มาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐออกมา จะทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้นได้ และทำให้ทั้งปีติดลบไม่มากนัก จะอยู่ที่ 5-7% เท่านั้น และปีหน้าจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 2-3% หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และรัฐออกมาตรการกระตุ้นตรงจุด และหากจำเป็นที่ต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ก็อยู่ในวิสัยที่กระทรวงการคลังจะปรับแก้เพดานการก่อหนี้ตามกรอบวินัยการเงินการคลังให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันที่ 60% ของจีดีพีได้ เพราะโควิดนับเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึงต้องหาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมตามจำเป็นได้ 

ด้านนายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)กล่าวว่า การเกิดเงินฝืดเป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าที่ลดลง ซึ่งส่งผลดีในแง่ของราคาสินค้าปรับตัวลดลง ก็อาจจะทำให้คนซื้อสินค้าได้ราคาถูกลง แต่ในวิกฤติโควิด ทำให้ประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอย ทำให้กังวลว่า ปัญหาเงิน ฝืดที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ในระยะต่อไปเศรษฐกิจจะชะลอตัวกว่าที่เป็นอยู่ได้

“ประเด็นเงินฝืด ไม่ได้สำคัญมาก เพราะทุกคนรับรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดีแน่ๆ เพราะมีการปิดการท่องเที่ยวและกำลังซื้อในประเทศหดตัว ทำให้รายได้ต่างๆ หายไปค่อนข้างมาก ยอมรับว่าเศรษฐกิจน่าเป็นห่วงไม่ต้องดูเงินฝืดก็น่าเป็นห่วง ทำให้ภาครัฐต้องมาอัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาล ก่อนที่เกิดเงินฝืดด้วยซํ้า ซึ่งเห็นวิกฤติิชัดเจนมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว”นายนณริฏ กล่าว

ทั้งนี้ยอมรับว่า เศรษฐกิจไตรมาส3 จะชะลอตัวกว่าไตรมาส2 เนื่องจากเงินเยียวยาประชาชนและเกษตรกรรวมถึงการดูแลผู้ประกอบการต่างๆ จากก้อนเงินกู้ 6 แสนล้านบาทจะหมดไป จากนั้นเศรษฐกิจจะฝืดเคืองจริง ความหวังสุดท้ายคือ การใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นขึ้นในไตรมาส 3 ได้หรือไม่

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า วันนี้ไทยมีเงินฝืดร่วมกับเศรษฐกิจที่ถดถอย จึงลามสู่ภาวะถดถอย(Recession) จากภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ( Economic Stag nation ) นอกจากราคานํ้ามันที่ลดลง ราคาสินค้าอื่นๆ ที่สะท้อนกำลังซื้อของคนก็ลดลงตาม ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหารสด) แทบไม่ขยายตัว 

“ผมห่วงว่า รายได้หรือจีดีพีคงหดตัวลากยาวในปีนี้ หากราคานํ้ามันหรือสินค้าขึ้น ฐานะความเป็นอยู่ของคนจะยิ่งลำบากกว่านี้ โดยเฉพาะครึ่งปีหลังหลังจบสิ้นมาตรการลดค่าครองชีพและราคานํ้ามันเริ่มขยับขึ้น” 

 

หน้า 13หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563