เปิดพอร์ตประกันสังคม  ซื้อ -ขายหุ้นตัวไหนบ้าง?

19 เม.ย. 2563 | 05:33 น.

เผยพอร์ตลงทุนกองทุนประกันสังคม 2.03 ล้านล้านบาท ไตรมาสแรกได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 9,692 ล้านบาท (YTD) เพิ่มขึ้น 1.46% มาจากดอกเบี้ยรับ 1.07หมื่นล้านบาท แต่ขาดทุนจากปันผลและการขายหน่วยลงทุน 982 ล้านบาท

 

ดัชนี SET ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ปิดที่ 1,125.86 จุด  ปรับ - 28.7% จากสิ้นปีที่แล้ว ก่อนจะทยอยปรับขึ้น ปิดที่ 1,239.24 จุด เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมีนาคม 113.38 จุด หรือ +10.07%

ที่น่าสนใจว่าระดับดัชนี SET ดังกล่าว กองทุนขนาดใหญ่อย่าง "ประกันสังคม" ซึ่งมีขนาดเงินกองทุนมากถึง  2,032,841 ล้านบาท มีมูลค่าพอร์ตลงทุนในหลักทรัพย์ไทย 201,241 ล้านบาท ลงใน 28 หลักทรัพย์ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค.-17เม.ย. 63)  มีการลงทุนซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน ?

 เปิดพอร์ตประกันสังคม  ซื้อ -ขายหุ้นตัวไหนบ้าง?

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต. ) พบว่าในช่วง 4 เดือน กองทุนประกันสังคม ได้เข้าซื้อและขายหุ้น ดังนี้

1. บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH ) เข้าซื้อ  8,000,000 หุ้น คิดเป็น 0.0669%  โดยจำนวนหุ้นภายหลังได้มาอยู่ที่  601,493,300 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.0335% 

2.บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ซื้อ 1,200,000  หุ้น คิดเป็น 0.0251% จำนวนหุ้นภายหลังได้มาอยู่ที่ 239,266,808 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.0141% 

3.บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN  เข้าซื้อ  1,283,000 หุ้น คิดเป็น 0.0882% จำนวนหุ้นภายหลังได้มาอยู่ที่  73,263,100 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.0380% 

4.บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่นหรือ  BCP เข้าซื้อ( 22 มกราคม 2563) จำนวน 1,066,400 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.0783% ก่อนจะมีการขายออก ( 28 กุมภาพันธ์ 2563) จำนวน 2,452,900 หุ้น สัดส่วน 0.1806% ทำให้จำนวนหุ้นภายหลังการจำหน่ายปัจจุบันอยู่ที่ 201,469,097 หุ้น  คิดเป็นสัดส่วน 14.8391% (ตารางประกอบ )
 

ทั้งนี้สถานะการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่าเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีจำนวน 2,032,841 ล้านบาท เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,671,176 ล้านบาท คิดเป็น 82% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 361,665 ล้านบาทคิดเป็น 18% โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 9,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อัตรา 1.46% แยกเป็น1.ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 10,674 ล้านบาท และ 2.จากเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารหนี้และหน่วยลงทุน  ติดลบ 982 ล้านบาท

อนึ่งมูลค่าหลักทรัพย์สูงสุดที่ประกันสังคมถือหุ้น 10 อันดับแรก  ประกอบด้วย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC ) ถือ 2.80% คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือ 15,707 ล้านบาท ,บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BDMS) ถือ 4.07% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ที่ถือ 13,000 ล้านบาท, บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT ) ถือ 1.15% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 8,885 ล้านบาท , บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) ถือ 1.39% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 8,006 ล้านบาท, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF )ถือ 3.51% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 7,639 ล้านบาท

บมจ.ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ถือ 3.15% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 6,666 ล้านบาท , บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(CPN) ถือ 2.14% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 4,351 ล้านบาท , บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น(BCP) ถือ 14.84% เป็นมูลค่า 3,702 ล้านบาท, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ถือ 2.34% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 3,653 ล้านบาท และ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO ) ถือ 2.38% เป็นมูลค่าหลักทรัพย์ 2,944 ล้านบาท