"ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่" ชู 5 โมเดลต่อยอดธุรกิจครบวงจร

07 ธ.ค. 2560 | 10:28 น.
“ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” ผู้บริหาร "ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่" เผย 5 ขาโมเดล ต่อยอดธุรกิจครบวงจร-เติบโตอย่างยั่งยืน มั่นใจทีมบริหาร-ผู้ถือหุ้นใหญ่ มีศักยภาพเปิดงบการเงินโชว์ 9 เดือนกำไร 136 ล้านบาท พร้อมคาดหวังนับถอยหลังกลับเข้าตลาดหุ้นในระยะอันใกล้นี้

[caption id="attachment_239908" align="aligncenter" width="336"] นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง[/caption]

นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ( WP ) เปิดเผยว่า บริษัท ฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ( LPG ) สำหรับภาคยานยนต์ ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมภายใต้แบรนด์ เวิลด์แก๊ส ณ 30 กันยายน 2560 เวิลด์แก๊สมีส่วนแบ่งตลาด 21 % หรือ จำนวน 635,629 ตัน เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท ปตท. ปัจจุบัน WP มีรายได้หลักจากการจำหน่าย LPG เกือบ 100%

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า บริษัท ฯ ได้ลดความเสี่ยงจากผลกระทบราคาน้ำมันและการลอยตัวก๊าซ LPGโดยได้วางแผนกระจายการลงทุนใน 5 สายธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจและให้ WP เป็นบริษัทพลังงานครบวงจร สร้างรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

สำหรับ 5 ขาธุรกิจ WP ถือหุ้น 100 % ประกอบด้วยการลงทุนในบริษัท อีเกิ้ล อินเตอร์ทรานส์( EAGLE ) ธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางบก , บริษัท ดับบลิวพี แก๊ส จำกัด ( WP GAS) ธุรกิจสถานีบริการหรือปั๊มก๊าซเวิลด์แก๊ส , บริษัท โลจิสติก เอ็นเตอร์ไพรซ์ ธุรกิจให้เช่ารถขนส่งขนาดเล็ก , บริษัท ดับบลิว พี โซลลาร์ ( WPSOLLAR ) และบริษัท ดับบลิวพี โซลูชั่นส์ จำกัด (WP SOLUTIONS) ธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวกับ LPG ตรวจสอบและซ่อมบำรุงถังก๊าซ
ทั้งนี้ปี 2559 ที่ผ่านมา มียอดขายก๊าซ LPG จำนวน 930,000 ตัน มีรายได้จากการขาย 16,300 ล้านบาท กำไรสุทธิ 54 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 มีรายได้ขาย 21,700 ล้านบาท กำไรสุทธิ 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีผลประกอบการไตรมาส 3 / 2560 มีกำไรสุทธิ 53 ล้านบาท และงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิถึง 137 ล้านบาท ทั้งนี้ปี 2560 บริษัท WP มีจุดเปลี่ยนที่เป็นนัยสำคัญคือ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายค่าเช่าคลังก๊าซที่ลดลงอย่างมาก จากการสร้างคลังก๊าซเอง ส่งผลให้ค่าเช่าปี 2558 จากจำนวน 175 ล้านบาท ลดลงเหลือ 40 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งในอนาคตบริษัทฯคาดว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนค่าเช่าคลังก๊าซและการสำรองน้ำแก๊สนี้เนื่องมาจากการการสร้างคลังก๊าซที่เพิ่มขึ้น

“ ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ เราไม่ได้คิดแค่การเติบโตจากธุรกิจก๊าซ LPG แต่ได้ปรับแผนธุรกิจ กระจายความเสี่ยง โดยการต่อยอดธุรกิจสู่บริษัทพลังงานครบวงจร สู่ต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งทีมบริหาร ปรับแผนธุรกิจสู่เชิงรุกมากขึ้น ทุก ๆ การเติบโต เรามีเงินทุน มีโอกาส มีธุรกิจ ศักยภาพและประสบการณ์ผู้ถือหุ้นที่มาเป็นบอร์ด(กรรมการ)เช่น กลุ่มศรีวัฒนประภาของคิงเพาเวอร์ กลุ่มวิไลลักษณ์ของสามารถ คอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่มคุณชัชวาล เจียรวนนท์ซึ่งเป็นภาพบวกกับ WP แสดงว่าธุรกิจน่าสนใจ และสามารถเติบโตได้ดี ผู้ถือหุ้นทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการผลักดันธุรกิจรวมทั้งทีมผู้บริหารทุกคนมีความตั้งใจจริง มีหน้าที่ต้องทำให้บริษัทแข็งแรงจึงสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้นได้”นางสาวชมกมลกล่าวอย่างมั่นใจ

นางสาวชมกมล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสายงานธุรกิจใหม่ เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น ธุรกิจขนส่งก๊าซ LPG ทางรถบรรทุกขนาดเล็ก และมีการศึกษาการลงทุนการขนส่งทางเรือ เพื่อให้ครอบคลุมธุรกิจการส่งออก-นำเข้าก๊าซ LPGซึ่งปัจจุบัน WP ได้เริ่มส่งออก LPG ไปยังประเทศในแถบ CLMV โดยมองว่านอกจากการขาย LPG ในประเทศเป็นรายใหญ่อันดับ 2 แล้ว การส่งออกใน CLMV มีโอกาสเติบโตสูงเช่นกัน

นอกจากนี้บริษัทดับบลิว พี โซลลาร์ซึ่งก่อตั้งบริษัทช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นโอกาสธุรกิจที่รัฐส่งเสริมพลังงานทดแทน ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาและหาโครงการที่มีศักยภาพ ทั้งในรูปการร่วมทุน หรือการซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีรายได้เชิงพาณิชย์(COD)แล้ว หรือทุกโอกาสที่มีเข้ามาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับการนำหุ้น WP กลับมาซื้อขายนั้น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารเผยว่า ขณะนี้ยื่นเรื่องไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อพิจารณาขอให้หลักทรัพย์กลับมาซื้อขายแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ฯข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบัน WP มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 518.5 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จำนวนหุ้น 518.5 ล้านหุ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 อันดับแรก ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2560 ประกอบด้วย 1.นายอัยยวัฒน์ศรีวัฒนประภา สัดส่วน 18.63 % , อันดับ 2 นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ 13.58 % , อันดับ 3. น.ส. อภิรดี โอภาสเอี่ยมลิขิต 12.73 %