ล้างบางแท็กซี่อายุเกิน 12ปี 1.1หมื่นคัน-ขบ.ผุดทางเลือกใหม่ ‘แท็กซี่วีไอพี’

19 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
กรมขนส่งฯเร่งคลอด VIP TAXI รับแผนปลดระวางแท็กซี่อายุใช้งานครบกว่า 12 ปี 1.1 หมื่นคัน แย้มมาตรการใหม่เข้มงวดแบบสุดโหดระบุในการจดทะเบียนบิ๊กขบ.เผยเสนอกฎกระทรวงเตรียมบังคับใช้กรณีต้องติดตั้งระบบ GPS จับตาผู้ประกอบการ/สหกรณ์ลงขันสู้หรือวางมือทางธุรกิจ เหตุมีความเสี่ยงด้านการลงทุน

ตามที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ได้ประกาศใช้มาตรการต่างๆในการจัดระเบียบรถแท็กซี่เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพให้บริการรถโดยสารสาธารณะอีกประเภทหนึ่งไปแล้วนั้น ล่าสุดยังคงเดินหน้าเพิ่มศักยภาพแท็กซี่สายพันธุ์ใหม่เพื่อทดแทนรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 12 ปีที่มีจำนวนกว่า 1.1 หมื่นคันซึ่งจะทยอยครบกำหนดในปีนี้ ทั้งรถใช้งานส่วนบุคคลและนิติบุคคล สู่รูปแบบใหม่ "แท็กซี่วีไอพี" เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้บริการหวังเปิดทางให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ก่อนเดินหน้าล้างบางแท็กซี่สายพันธุ์เก่าที่ด้อยมาตรฐานให้หมดไปในที่สุด

โดยในกรณีดังกล่าวนี้นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าปัจจุบันได้เปิดให้บริการแท็กซี่แบบเสรีโดยให้บริการจดทะเบียนแท็กซี่สาธารณะสามารถเพิ่มจำนวนให้ครบได้อย่างต่อเนื่องตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนกับขบ.เมื่อรถนั้นๆครบกำหนดอายุการใช้งาน 12 ปีแล้ว

ทั้งนี้ในปี 2560 พบว่ามีแท็กซี่หมวดอักษรต่างๆที่มีอายุใช้งานเกิน 12 ปีจำนวนกว่า 1.1 หมื่นคันจำเป็นจะต้องยกเลิกให้บริการ เจ้าของรถต้องส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนรถและนำใบคู่มือจดทะเบียนรถมาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อบันทึกหลักฐานการระงับทะเบียน หรือเปลี่ยนประเภทรถภายใน 30 วันนับแต่วันครบอายุการใช้งาน หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และกรณีที่มีการนำรถแท็กซี่สิ้นอายุการใช้งานแล้วไปวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารก็จะมีความผิดตามมาตรา 5(10) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการว่าจะสนใจลงทุนในธุรกิจบริการแท็กซี่อีกต่อไปหรือไม่ ส่วนกรณีจะนำมาตรการใหม่รูปแบบใดไปดำเนินการกับรถแท็กซี่ก่อนนำไปจดทะเบียนใหม่ทดแทนคันที่ครบวาระ 12 ปีนั้นจะต้องนำเสนอผู้บริหารกระทรวงคมนาคมเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไปโดยมาตรการที่จะนำไปใช้ปฏิบัติขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอออกกฎกระทรวงให้รถที่มีขนาดปกติติดตั้ง GPS ทั้งรถแท็กซี่ธรรมดาและแท็กซี่เวอร์ชันใหม่ รถแท็กซี่วีไอพีที่มีขนาดตัวรถใหญ่ขึ้น

"ค่าใช้จ่ายดำเนินการจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้นกรณีจะต้องชำระค่าภาษีในขนาดซีซี(CC) ที่สูงขึ้น ส่วนอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่รุ่นใหม่ที่ขนาดใหญ่กว่าเดิมนั้นจะมีอัตราที่เหมาะสมซึ่งขบ.ได้มีการศึกษาเป็นสูตรเบื้องต้นรองรับไว้แล้ว"

รองอธิบดีขบ. กล่าวอีกว่าปัจจุบันแม้จะมีรถแท็กซี่ให้บริการกว่า 1.1 หมื่นคันแต่ก็ยังพบว่าไม่เพียงพอ ประการหนึ่งนั้นยังพบว่าไม่ได้นำรถออกมาใช้ครบตามจำนวนเนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ จอดซ่อม หรือส่วนหนึ่งเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคล โดยจากการสำรวจพบว่ามีให้บริการราว 6 หมื่นคันเศษเท่านั้น

"ส่วนที่ยังขาดหายไปส่วนหนึ่งพบว่าเป็นรถที่เสื่อมสภาพจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ หรือเสื่อมสภาพตามที่กฎหมายกำหนด มีบางส่วนเติมรถใหม่เข้ามาเสริมบ้างแล้ว ดังนั้นการลงทุนรอบใหม่จึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการว่าแต่ละรายจะมีศักยภาพการลงทุนได้มากน้อยเพียงไร ขณะนี้ยังปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างเสรี โดยขบ.ยังเปิดรับจดทะเบียนแท็กซี่รูปแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงยังไม่ถึงกับขาดแคลนรถให้บริการประชาชน"

ด้านแหล่งข่าวของบริษัทสมภพเซอร์วิส จำกัด ผู้ประกอบการให้บริการรถแท็กซี่พื้นที่โซนฝั่งธนบุรี กล่าวว่า ช่วงแรกมีรถออกให้บริการจำนวน 100 คันปัจจุบันเหลือเพียง 50 คันเท่านั้น โดยมีรถให้บริการเกือบครบทุกหมวดอักษร

"ขณะนี้รถบางส่วนต้องจอดทิ้งไว้เพราะขาดแคลนคนขับ รถครบอายุการใช้งาน 12 ปี รถจอดซ่อม และจอดทิ้งเพราะค่าซ่อมไม่คุ้มค่าเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ ส่วนหนึ่งขายให้กับคนขับที่ทำงานร่วมกันมานานและสนใจซื้อไปเป็นรถของตนเอง"

โดยปัญหาที่พบคือรายจ่ายบางเดือนสูงถึงหลักแสนบาท แตกต่างจากรายรับที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงแรกรับสมัครคนขับจะมีการวางเงินประกันคนละ 3,000 บาท ช่วงหลังๆหลายรายค้างค่าเช่าหรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยจนต้องโดนหักค่าประกันหมดไปในที่สุด ส่งผลให้หลักประกันที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไม่มี

"ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่เป็นแรงจูงใจในการลงทุน ปัจจุบันแท็กซี่ต่อคันราคาประมาณ 7-8 แสนบาทจึงเชื่อว่าหากจะต้องมีการลงทุนใหม่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะต้องวางมือจากธุรกิจนี้เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงมากมายทั้งการแข่งขัน อัตราค่าโดยสาร ข้อจำกัดด้านระเบียบกฏหมาย ประการสำคัญคือการขาดแคลนผู้ขับรถที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน"

ด้านนางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ผู้ประกอบการออลไทย แท็กซี่ กล่าวว่า ขอดูความชัดเจนในรายละเอียดที่ขบ.จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก่อนตัดสินใจ แต่คงต้องหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน เบื้องต้นนั้นอาจจะทยอยลงทุนเพื่อเป็นทางเลือกในการใช้บริการและเสริมศักยภาพทางธุรกิจของนครชัยแอร์ได้อีกแนวทางหนึ่ง จากปัจจุบันมีแท็กซี่ในแบรนด์ออลไทยแท็กซี่ออกให้บริการแล้วจำนวน 500 คันทั่วพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

สอดรับกับแนวคิดของรศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหานครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า กรณีแท็กซี่จะพบว่าโครงสร้างเดิมผู้ขับรถจะรับภาระความเสี่ยงทุกอย่าง แต่ผู้ประกอบการลอยตัว รับรายได้ค่าเช่าเท่านั้น แต่แท็กซี่วีไอพีจะเป็นทางเลือกหลากหลายให้ประชาขนมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าอีกระดับหนึ่งที่มีกำลังจ่ายมากกว่ากว่าปัจจุบันนี้เพื่อต้องการความสะดวก สะอาด รวดเร็ว ปลอดภัย บริการที่พึงพอใจซึ่งขบ.อาจจะใช้ปฏิบัติควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างแท็กซี่ใหม่ โดยเอาคุณภาพเป็นตัวตั้งมากกว่าจะเอาปริมาณ รายได้หรืออัตราค่าโดยสารว่าควรจะอยู่ในระดับไหน โดยไม่มองเฉพาะเรื่องต้นทุนเท่านั้น

"องค์ประกอบเหล่านี้จะถูกนำไประบุในเงื่อนไขให้กับผู้ประกอบการเพื่อการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพให้บริการของแท็กซี่สู่ระดับวีไอพี แนวทางที่เหมาะสมจึงควรดำเนินการในรูปแบบนิติบุคคล ผู้ขับรถจะต้องได้รับสวัสดิการที่ดีในระดับที่สร้างความมั่นใจได้ อาทิ สวัสดิการสังคมรูปแบบต่างๆ ผู้ประกอบการรายที่มีศักยภาพจริงๆที่เป็นมืออาชีพเท่านั้นจะสามารถดำเนินการได้ จึงอาจมีการร่วมพันธมิตรทางธุรกิจเกิดขึ้นใหม่ได้อีกหลายรายในวงการธุรกิจนี้ และรูปแบบสหกรณ์อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างเช่นกัน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560