5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “แลมบ์ดา” โควิด-19 สายพันธุ์น่าพิศวง

24 ก.ค. 2564 | 01:30 น.

โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดา (Lambda) แม้จะยังไม่ปรากฏว่ามีการระบาดในประเทศไทย เรายังต้องระวังเนื่องจากมีแนวโน้มว่าโควิดสายพันธุ์นี้จะอันตรายและมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า

“แลมบ์ดา” (Lambda) ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ล่าสุด กำลังสร้างความพิศวงระคนวิตกกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์ในขณะนี้ เนื่องจากมีการ

กลายพันธุ์ในลักษณะ "ผิดปกติ" ใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลต้า ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วและหลบภูมิคุ้มกันได้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะยังไม่ได้ยกระดับความอันตรายของ “แลมบ์ดา” ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลก็ตาม

1.โควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดามาจากไหน

ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ C.37 มีการตรวจพบครั้งแรกในประเทศเปรูเมื่อปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันมีการแพร่กระจายในเกือบ 30ประเทศ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ และองค์การอนามัยโลกจัดให้แลมบ์ดาเป็น “เชื้อกลายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจเฝ้าระวัง” หรือ Variant of Interest (VOI) ลำดับที่ 7

ลักษณะการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนของ “แลมบ์ดา” ทำให้นักวิทยาศาสตร์เร่งศึกษาหาความกระจ่างในเรื่องของอันตรายที่อาจมีต่อมนุษย์และผลกระทบต่อการแพร่ระบาดในอนาคต เชื้อไวรัสชนิดนี้มีการกลายพันธุ์ที่ซับซ้อนคล้ายกับการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลต้า โดยพบการกลายพันธุ์จากลักษณะดั้งเดิมถึง ๗ จุดบนโปรตีนส่วนหนามของไวรัส การกลายพันธุ์บางลักษณะที่พบในสายพันธุ์แลมบ์ดานี้สามารถเพิ่มศักยภาพให้ไวรัสแพร่ระบาดมากขึ้นได้อย่างมหาศาล และยังลดทอนประสิทธิภาพของแอนติบอดีบางตัวที่ใช้ในการยับยั้งไวรัสได้อีกด้วย

มหาวิทยาลัยชิลีทำการวิจัยศึกษาผลกระทบของสายพันธุ์แลมบ์ดาต่อการติดเชื้อไวรัส โดยใช้ตัวอย่างเลือดจากบุคลากรทางการแพทย์ในท้องถิ่นที่ได้รับวัคซีนครบโดส  และพบว่าแลมบ์ดาแพร่เชื้อได้มากกว่าแกมมาและอัลฟ่า รวมทั้งสามารถหลบหลีกแอนติบอดีที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้ดีกว่าด้วย  แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้แน่ชัดว่า ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดานี้จะทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพลดลง หรือทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงกว่าปกติ

2.โควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดาอาการเป็นอย่างไร

มีการคาดการณ์ว่าอาการของผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า และสังเกตอาการยากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์เฝ้าระวังว่าจะสามารถแพร่เชื้อในอนาคต (Variant of Interest) หรือ VOI  และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะถูกเพิ่มเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) หรือ VOC เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลต้าซึ่งมีเกณฑ์ในการวัด ดังนี้

3.ความรุนแรงเมื่อติดเชื้อมากกว่าสายพันธุ์ปกติ

มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ

สามารถเลี่ยงประสิทธิภาพวัคซีน หรือส่งผลต่อระบบสาธารณสุขให้ด้อยลงจากเดิม

4.สถานการณ์โควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดาในไทย

 จากข้อมูลวันที่ 19 กรกฎาคม ยังไม่มีรายงานว่าพบโควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดาในไทย โดยความเสี่ยงที่มากที่สุดคือกลุ่มคนที่เข้าออกนอกประเทศหรือเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์นี้

 5.วัคซีนชนิดใดสามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่แลมบ์ดาได้บ้าง

 มีการเผยแพร่การวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกาว่าจริงอยู่ที่โควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ แต่ในการทดสอบกับวัคซีนชนิด mRNA (วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา) พบว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอในการช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา สำหรับวัคซีนชนิดอื่นยังไม่มีผลการวิจัยออกมาเผยแพร่แต่อย่างใด

อ้างอิง World Health Organization