ฉีดวัคซีนตัดวงจรโควิดไม่ได้ผลในระยะสั้น หมอธีระยันต้องล็อกดาวน์ประเทศ

23 ก.ค. 2564 | 02:21 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 11:02 น.

หมอธีระเผยการฉีดวัคซีนโควิดเพื่อตัดวงจรโควิด-19 ระบาด ไม่ใช่หนทางที่จะฝากความหวังได้ในระยะสั้น ยันต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ 4 สัปดาห์ พร้อมปูพรหมตรวจหาเชื้อ และชะลอนโยบายเปิดเกาะ เปิดประเทศ

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 23 กรกฎาคม 2564 ทะลุ 193 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว ภาพรวมของโลกมีทั้งจำนวนติดเชื้อและจำนวนเสียชีวิตในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 537,918 คน รวมแล้วตอนนี้ 193,342,517 คน ตายเพิ่มอีก 8,451 คน ยอดตายรวม 4,150,472 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา บราซิล อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร และอินเดีย
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 54,344 คน รวม 35,204,382 คน ตายเพิ่ม 349 คน ยอดเสียชีวิตรวม 626,156 คน อัตราตาย 1.8% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 34,865 คน รวม 31,291,704 คน ตายเพิ่ม 481 คน ยอดเสียชีวิตรวม 419,502 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 49,603 คน รวม 19,524,092 คน ตายเพิ่มถึง 1,444 คน ยอดเสียชีวิตรวม 547,134 คน อัตราตาย 2.8% 
รัสเซีย ติดเพิ่ม 24,471 คน รวม 6,054,711 คน ตายเพิ่ม 796 คน ยอดเสียชีวิตรวม 151,501 คน อัตราตาย 2.5% 
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 21,909 คน ยอดรวม 5,933,510 คน ตายเพิ่ม 11 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,565 คน อัตราตาย 1.9%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 
คาดว่าสเปนอาจแซงอิตาลีขึ้นมาเป็นอันดับ 10 ในอีกราว 2-3 วัน เนื่องจากช่วงนี้กลับมาติดเชื้อเพิ่มหลายหมื่นคนต่อวันอย่างต่อเนื่อง
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชีย และยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน อิรักกำลังเผชิญระลอกสามที่หนักกว่าเดิม ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง  
กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดน้อยกว่าสิบ
วิเคราะห์สถานการณ์โลก
จำนวนติดเชื้อต่อวันเมื่อวานนี้ มาจากทวีปเอเชีย 37.63%, ทวีปยุโรป 26.6%, ทวีปอเมริกาเหนือ 15.54%, ทวีปอเมริกาใต้ 14.9%, ที่เหลือมาจากทวีปแอฟริกาและโอเชียเนีย 5.29%
จะเห็นได้ว่าตอนนี้รุนแรงชัดเจนในเอเชียและยุโรป ส่วนอเมริกานั้นตอนนี้มีจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็ว เพราะระบาดหนักในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มักอยู่แถบมลรัฐทางใต้ ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่อื่น

สำหรับสถานการณ์ของไทย
ตอนนี้มีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันของเมื่อวานสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย

การระบาดระลอกสามในประเทศไทย
หากพิจารณาสถานะปัจจุบัน จะพบว่า มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะกลุ่มจังหวัดนั้นมีโอกาสได้ผลน้อยสำหรับสถานการณ์ระบาดรุนแรง กระจายไปทั่วประเทศ ดังที่เห็นได้จากจำนวนจังหวัดสีแดง สีส้ม สีเหลือง ขยายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากที่ทบทวนบทเรียนของต่างประเทศที่ผ่านมา ยังไม่เห็นประเทศใดที่จะดำเนินมาตรการนี้แล้วจะเพียงพอในการจัดการการระบาดได้ มักต้องลงท้ายด้วยการทำ Full national lockdown ซึ่งหากทำในระยะที่ช้าเกินไป ก็จะต้องทำการล็อคยาวนาน
ในขณะเดียวกัน ระบบการตรวจคัดกรองโรคของเราตอนนี้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แม้จะนำวิธี Rapid antigen test มาใช้ แต่แนวทางการปฏิบัตินั้นดูจะยังมีปัญหา และอาจก่อให้เกิดผลกระทบได้หลายเรื่อง เช่น 
หนึ่ง โอกาสเกิดผลลบปลอม เพราะความไวต่ำกว่าวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งอาจทำให้คนที่ติดเชื้ออยู่แต่ตรวจแล้วได้ผลลบเข้าใจผิดหรือปฏิบัติตัวโดยไม่ระวัง จนอาจแพร่ให้คนใกล้ชิดได้ จึงต้องระวังมากๆ
สอง การออกแนวทางปฏิบัติล่าสุด ที่ให้คนตรวจ Rapid antigen test แล้วได้ผลบวก แต่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ให้กักตัวที่บ้านไปเลย โดยไม่ต้องไปตรวจด้วย RT-PCR ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การที่ตรวจเองแล้วได้ผลบวก จะทำการแจ้งเข้าสู่ระบบการนับจำนวนผู้ติดเชื้อเพื่อรายงานประจำวันของประเทศหรือไม่? ทำอย่างไรไม่ให้ตกหล่น? มิฉะนั้นจะเกิดปัญหา under report คือจำนวนติดเชื้อที่รายงานแบบทางการนั้นจะต่ำกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า โอกาสเกิดผลบวกปลอมนั้นแม้เกิดได้ แต่น้อย เนื่องจากหากดูข้อมูลต่างประเทศ ชุดตรวจ Rapid antigen test ที่ได้มาตรฐานมักยังมีความจำเพาะสูงใกล้เคียงกับวิธี RT-PCR โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้อย่างถูกต้องและใช้ในยามที่มีการระบาดมาก
สาม จากข้อสองนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกประการคือ หากไม่สามารถรวมเข้าสู่ระบบรายงานประจำวันได้ เคสติดเชื้อเหล่านั้น ซึ่งจะมีจำนวนไม่น้อยที่อาจเปลี่ยนเป็นมีอาการรุนแรง และก็จะจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาในที่สุด และจะมาโดยคาดการณ์จังหวะเวลาและจำนวนไม่ได้ เพราะไม่ทราบจำนวนตั้งต้น หากเป็นเช่นที่กล่าวมา นั่นหมายถึงแนวปฏิบัติที่แนะนำให้ทำนั้นเป็นเพียงกระบวนการที่เพิ่มขึ้นมา เผื่อหน่วงเวลาเข้าสู่ระบบ และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบ ทั้งต่อผู้ติดเชื้อ ครอบครัว สังคม และบุคลากรทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข 
ความท้าทายจึงอยู่ที่ การหาทางทำให้เกิดความสะดวกในการรายงานผลการตรวจของประชาชนเข้าสู่จำนวนการติดเชื้อประจำวันที่รายงานให้ได้อย่างครบถ้วน โดยจะจำแนกตามวิธีการตรวจให้เห็นอย่างชัดเจน 
สำหรับเรื่องระบบการดูแลรักษา ประเมินในแง่มุมใด ก็ยังพบว่าไม่มีทางที่จะสร้างเพิ่มเพื่อรองรับปริมาณการระบาดหนักขนาดนี้ได้ 

ดังนั้นสิ่งที่ ศบค. ควรพิจารณาทำ ยังยืนยันเช่นเดิมคือ
1. ชะลอนโยบายเปิดเกาะ เปิดประเทศ
2. ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและวิชาการ
3.Full national lockdown 4 สัปดาห์ โดยต้องเตรียมระบบสนับสนุนช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างรอบคอบ
4. ปูพรมตรวจ โดยจัดทั้งบริการตรวจที่รพ.อย่างเต็มศักยภาพ บริการจุดตรวจนอกสถานที่ บริการตรวจโดยรถเคลื่อนที่ บริการตรวจแบบ knock the door and do the test และการตรวจด้วย Rapid antigen test ด้วยตนเองโดยมีจุดแจกจ่ายชุดตรวจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมระบบรายงานผลหรือรวบรวมผลการตรวจไม่ให้ตกหล่น
การฝากความหวังไว้กับการฉีดวัคซีน เพื่อจะตัดวงจรการระบาดนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะฝากความหวังไว้ได้ในระยะสั้น และมักต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการมาตรฐานสากล จึงจะมีโอกาสสำเร็จ
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัดวงจรการระบาดด้วยมาตรการทางสาธารณสุขที่ถูกต้องและต้องทำให้ทันเวลา

ฉีดวัคซีนตัดวงจรโควิดไม่ได้ผลในระยะสั้น หมอธีระยันต้องล็อกดาวน์ประเทศ
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ มุ่งเป้าอย่าให้เราติดเชื้อ ใส่หน้ากากสำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 23 กรกฏาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า 
มีผู้ติดเชื้อใหม่ 14,575 ราย
ติดเชื้อในระบบ 9889 ราย
ติดเชื้อจากตรวจเชิงรุก 3601 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 1072 ราย 
ติดเชื้อในสถานกักตัว 13 ราย
สะสมระลอกที่สาม 438,844 ราย
สะสมทั้งหมด 467,707 ราย
รักษาตัวอยู่ 143,744 ราย
โรงพยาบาลหลัก 81,808 ราย
โรงพยาบาลสนาม 61,936 ราย
อาการหนัก 3984 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 900 ราย
กลับบ้านได้ 7715 ราย
สะสม 320,371 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 114 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3717 ราย
สะสมทั้งหมด 3811 ราย