"หมอธีระ" ชี้ใช้มาตรการ"ล็อกดาวน์"เบาไปหาหนักไล่ตามโควิด-19ไม่ทัน

19 ก.ค. 2564 | 03:13 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 10:12 น.

หมอธีระ เผยสถานการณ์ติดเชื้อโควิดในไทยยังหนัก ระบุใช้มาตรการล็อกดาวน์จากเบาไปหาหนักไล่ตามไวรัสไม่ทัน ชี้ยิ่งปล่อยให้ยืดยาวไปนานมากขึ้น ประชาชนในสังคมจะไม่สามารถอดทนยืนหยัดต่อสู้ได้

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 19 กรกฎาคม 2564 ทะลุ 191 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 433,293 คน รวมแล้วตอนนี้ 191,187,616 คน ตายเพิ่มอีก 6,584 คน ยอดตายรวม 4,105,261 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย อินเดีย บราซิล และรัสเซีย
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 9,502 คน รวม 34,963,439 คน ตายเพิ่ม 31 คน ยอดเสียชีวิตรวม 624,746 คน อัตราตาย 1.8% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 38,325 คน รวม 31,143,595 คน ตายเพิ่ม 501 คน ยอดเสียชีวิตรวม 414,141 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 34,126 คน รวม 19,376,574 คน ตายเพิ่มถึง 891 คน ยอดเสียชีวิตรวม 542,214 คน อัตราตาย 2.8% 
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,018 คน รวม 5,958,133 คน ตายเพิ่ม 764 คน ยอดเสียชีวิตรวม 148,419 คน อัตราตาย 2.5% 
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 12,532 คน ยอดรวม 5,867,730 คน ตายเพิ่ม 5 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,472 คน อัตราตาย 1.9%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 
สหราชอาณาจักรมียอดติดเชื้อเมื่อวานสูงที่สุดในโลก 48,161 คน คาดว่าอีก 3 วันจะแซงตุรกีขึ้นเป็นอันดับ 6 
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี เนเธอร์แลนด์ อิตาลีโปรตุเกส กรีซ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่น
กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดน้อยกว่าสิบ

วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของไทย
จากการรายงานเมื่อวานนี้ ไทยมีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จำนวนการเสียชีวิตรายวันสูงเป็นอันดับที่ 16 และมีจำนวนผู้ป่่วยรุนแรงและวิกฤติมากเป็นอันดับที่ 8 แต่หากเทียบกันในกลุ่ม 49 ประเทศในเอเชีย ดูแล้วน่าวิตกมาก
จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติของไทยสูงเป็นอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงอินเดียและอิหร่าน ทั้งๆ ที่สองประเทศนี้มีจำนวนการติดเชื้อสะสมมากกว่าไทยถึง 77 และ 8.7 เท่าตามลำดับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ในขณะที่จำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย อินเดีย อิหร่าน และบังคลาเทศ
ดูข่าวเช้านี้ ผู้ประกาศข่าวสื่อสารทำนองว่า "ย้อนกลับไป ถ้าหากบอกว่าไทยเราจะมีคนติดเชื้อหลายแสน ตายกับหลายพันแบบนี้ ใครจะไปเชื่อ"
ประโยคดังกล่าวทำให้ฉุกคิดไปถึงอดีตที่ผ่านมา และเป็นเหตุผลหนึ่งในการอธิบายปรากฏการณ์วิกฤติที่เราเจออยู่ในปัจจุบัน หลายคนคงทราบกันดี
กลไกการบริหารจัดการนโยบายสาธารณสุข มาตรการต่างๆ ทั้งเรื่องการควบคุมป้องกันโรค ทรัพยากรที่จำเป็น รวมถึงวัคซีนนั้นมีปัญหา และส่งผลให้ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ และขยายวงจนเป็นวิกฤติในปัจจุบันที่หนักขึ้นเรื่อยๆ
สัจธรรมคือ "ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานใดๆ นั้น จะออกมาดีได้ ต้องมาจากการใช้ยุทธศาสตร์ที่มาจากความรู้ที่ถูกต้อง มีฝีมือในการจัดการดำเนินงาน และยึดมั่นตามหลักคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม"
ในสถานการณ์ระบาดที่หนักเช่นนี้ เรื่องในอนาคตอันใกล้ที่ไทยเราจำเป็นต้องระวังและเตรียมแผนรับมือให้ดี เพราะมีบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้แก่
หนึ่ง การระบาดหนักในโรงพยาบาล ทั้งในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน และผู้ป่วยในที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จนต้องปิดโรงพยาบาล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเคร่งครัด, หากเกิดการตรวจพบการติดเชื้อขึ้นมา มาตรการแบบเข้มจะดีกว่ามาตรการแบบไล่ตาม ให้ตระหนักไว้ว่าทำ over จะดีกว่า under...Mindset นี้สำคัญมาก
สอง การเปิดพื้นที่รับให้มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการระบาดในพื้นที่ และมีโอกาสที่จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีโรคชุกชุม หรือแดนดงโรคได้หากไม่ป้องกันอย่างเคร่งครัด ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันกระตุ้นเตือนคนในพื้นที่เหล่านั้นให้ระมัดระวังในการใช้ชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัวและระหว่างการทำงานประกอบอาชีพ ป้องกันตัวอย่างเต็มที่
สาม การระบาดระดับรุนแรงที่เราเผชิญอยู่นั้น หากยังมัวใช้มาตรการ (ล็อกดาวน์) ไล่จากเบาไปหาหนัก ยากนักที่จะไล่ตามโรคได้ทัน และสุดท้ายจะไม่มีทางเลือกที่จะต้องทำ Full national lockdown ในที่สุด และควรตระหนักไว้ว่า ยิ่งปล่อยให้ยืดยาวไปนานมากขึ้น ประชาชนในสังคมจะไม่สามารถอดทนยืนหยัดต่อสู้ได้ เพราะทรัพยากรร่อยหรอจนหมดไป หากถึงจุดนั้นจะเกิดความโกลาหลในสังคม และยากที่จะประกาศใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ครึ่งปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ที่เห็นย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า นโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุขของไทยนั้นมาถูกทางจริงหรือไม่
หากเปิดใจยอมรับความจริง มองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องคนป่วย คนตาย คนฆ่าตัวตาย รอตรวจ รอเตียงจนเสียชีวิต และผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจวงกว้าง ที่หนักหนาและยาวนานเช่นนี้
คงพอจะทราบว่า ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและกลไกวิชาการอย่างเร่งด่วน
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้มีแรงกายแรงใจป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่ ใส่หน้ากากสำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 19 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม             11,784 ราย
สะสมระลอกที่สาม  386,307 ราย
สะสมทั้งหมด          415,170 ราย
ตรวจในระบบบริการ       8997 ราย
ตรวจเชิงรุก                     2677 ราย
ตรวจพบในเรือนจำ         100 ราย
ตรวจในสถานกักตัว        10 ราย
หายป่วยกลับบ้านได้ 5741 ราย
สะสม 289,870 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม           81 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3328 ราย
สะสมทั้งหมด         3422 ราย