ชงครม.เคาะ เยียวยาประกันสังคม 3 จังหวัดใหม่ถูกล็อกดาวน์เพิ่ม

19 ก.ค. 2564 | 02:34 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2564 | 11:23 น.

ชงครม. อนุมัติ สำนักงานประกันสังคม จ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติม ช่วยเหลือนายจ้าง-ลูกจ้าง ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ใน 3 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา–ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา  ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม เพิ่มเติม

กรณีรัฐบาลยกมระดับมาตรการล็อกดาวน์ พร้อมประกาศเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม เพิ่มเติมจากเดิม 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, นครปฐม, นนทบุรี นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

 

ล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 ก.ค. 2564 จะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณามาตรการเยียวยาประกันสังคม แก่นายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบพระนครศรีอยุธยา,ชลบุรี,ฉะเชิงเทรา ที่เพิ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่สูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติม โดยแนวทางการช่วยเหลือในเบื้องต้นจะเหมือนกับที่ครม.เคยมีมติก่อนหน้านี้

ประเภทกิจการที่ได้รับการเยียวยาประกันสังคม  9 สาขา

  1. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร โรงแรม, รีสอร์ท, เกสต์ฮ้าส์, ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท, การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร, การบริการด้านอาหารบนแผงลอยและตลาด, การบริการด้าน,การจัดเลี้ยง, การบริการด้านเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นหลักในร้าน
  2. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า การขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทางระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่น และระหว่างจังหวัด, การขนส่งผู้โดยสารโดยรถยนต์รับจ้าง/แท็กซี่/รถสามล้อเครื่อง,จักรยานยนต์รับจ้าง, การขนส่งสินค้าแช่เย็นหรือแช่แข็งทางถน, การขนส่งสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ทางถนน
  3. การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ ห้างสรรพสินค้า, ซุปเปอร์เซ็นเตอร์, การขายปลีกสินค้าทั่วไป
  4. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน ธุรกิจจัดนำเที่ยว, กิจกรรมของมัคคุเทศก์, กิจกรรมการรักษาความปลอดภัย, การบริการทำความสะอาด, การจัดการประชุมและจัดการแสดงสินค้า (event)
  5. กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมของบริษัทโฆษณา, กิจกรรมการออกแบบและตกแต่งภายใน, การตรวจสอบบัญชี, การให้คำปรึกษาด้านภาษี
  6. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร กิจกรรมการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์, กิจกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์, กิจกรรมด้านการจัดฉายภาพยนตร์
  7. การก่อสร้าง การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย, การก่อสร้างถนน, สะพานและอุโมงค์, การติดตั้งระบบประปาและระบายน้ำ
  8. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ กิจกรรมสปา, กิจกรรมการแต่งผม, กิจกรรมการดูแลความงาม แต่งเล็บมือและเล็บเท้า, กิจกรรมเกี่ยวกับงานศพและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
  9. ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ การดำเนินงานของสถานที่ออกกำลังกาย, กิจกรรมด้านสมสกีฬา, กิจกรรมด้านสวนสนุกและมปาร์ค,กิจกรรมการแสดงโชว์เพื่อความบันเทิงและการนันทนาการ

เงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยาประกันสังคม

มาตรา 33

  • นายจ้าง รัฐจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 คน
  • ลูกจ้าง รับเพิ่มเป็น 2,500 บาทต่อคน บวกเงินชดเชยรายได้(สูงสุด 7,500 บาท) รวมไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน

มาตรา 39 และมาตรา 40

  • รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน
  • อาชีพอิสระ หากขึ้นทะเบียน ม.40 ภายใน ก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

กรณีนอกระบบประกันสังคม

  • นายจ้าง หากลูกจ้างขึ้นทะเบียน ม.33 รับเงินช่วยเหลือตามจํานวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 คน ลูกจ้างสัญชาติไทยรับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาทต่อคน
  • หากไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียน ม.40 รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

 ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”

  • ขยายความช่วยเหลือใน 5 กลุ่ม ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการ และกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)
  • กรณีมีลูกจ้าง ให้ขึ้นทะเบียน ม.33 ภายในเดือน ก.ค.64 รับเงินช่วยเหลือตามจํานวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 200 คน ลูกจ้างมาตรา 33 จ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท และจ่ายสมทบให้สัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน
  • หากไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียน ม.40 ภายในเดือน ก.ค.64 รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้แรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) เคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และที่เคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C) หรือสมัครผ่านผู้แทนเครือข่ายประกันสังคม ทั้งนี้ เมื่อสมัครแล้วสามารถจ่ายเงินสมทบได้ทันที