สถาบันวัคซีนฯ เร่งจัดหาวัคซีนโควิด ไฟเซอร์-ซิโนฟาร์ม เพิ่ม 25 ล้านโดส

15 ก.ค. 2564 | 10:05 น.

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย เร่งจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนเเละควบคุมการระบาดของโรค โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์เเละซิโนฟาร์ม จัดหาเพิ่มกว่า 25 ล้านโดส

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ “ถอดรหัส…วัคซีน” ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของงานสัมนา Nation Virtual Forum Thailand Survival Post Covid-19 ตอน วัคซีนโควิด ฟื้นเศรษฐกิจไทย ระบุว่า

นับตั้งแต่มีการระบาดของวิด 19 ในปี 2563 สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้พยายามเจรจากับบริษัทผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพซึ่งก็คือแอสตร้าเซนเนก้าจนประสบความสำเร็จในการจัดซื้อวัคซีนและโดยเฉพาะการเป็นฮับในการผลิตวัคซีนให้กับประเทศต่างๆ โดยมีฐานการผลิตในประเทศไทยและสร้างความร่วมมือเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต

และเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด19 สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ดำเนินการใน 3 ขั้นตอน ดังนี้ วิจัยพัฒนาในประเทศ ได้รับการจัดสรรงบประมาณงบกลาง 1,000 ล้านบาท รวมทั้งได้รับงบจัดสรรตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1,810 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2,810 ล้านบาท

ทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ ขนานกันกับการจัดซื้อ จัดหา วัคซีนนำมาใช้ในประเทศ เป้าหมายในปี 2564 การจัดหา 100 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 9 ล้านโดส และจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก แบ่งเป็น ซิโนแวค 10-15 ล้านโดส ไฟเซอร์  20 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 5 ล้านโดส และอื่นๆ

“เป้าหมายของที่จะจัดหาวัคซีนโควิดตั้งเป้า 100 ล้านโดส ในปี 2564 เร่งดำเนินการฉีดให้กับประชาชนเพื่อจะใช้ควบคุมการระบาดของโรค แต่ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้เร็วทันท่วงทีกับสถานการณ์เพราะอยู่บนสถานการณ์ที่วัคซีนทั่วโลกมีความจำกัด การที่ผลิตวัคซีนได้เองก็จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ไปได้ส่วนหนึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เราไม่สามารถที่จะมีวัคซีนได้เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาที่อย่างรวดเร็วที่เราอยากจะได้แต่เราก็ยังการที่เรามีวัคซีนที่จะส่งมอบให้เราตลอดช่วงที่เรายังผลิตได้”

โดยจากความคาดหวังเดิมของประเทศไทยคือจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสภายในปี 2564 นั้น ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับจดหมายจากแอสตร้าเซนเนก้าว่าการส่งมอบวัคซีนยังสามารถทำได้ตามกำลังการผลิตที่มีซึ่งกำลังที่มี ณ วันนี้อยู่ที่ประมาณ 15-16 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงแรกของการผลิต ดังนั้นการส่งมอบวัคซีนก็จะสามารถดำเนินการได้ในช่วงเวลานี้อยู่ที่ 1 ใน 3 ของการส่งมอบวัคซีนจากการผลิตทั้งหมดก็คือ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน เนื่องจากการจองซื้อวัคซีนของประเทศไทย 61 ล้านโดส แต่แอสตร้าเซนเนก้าผลิตได้ 180 ล้านโดส

“การที่เราจะได้รับการส่งมอบวัคซีนก็จะได้ 1 ใน 3 ของการผลิต แต่ที่ผ่านมาแอสตร้าเซนเนก้าก็พยายามที่จะส่งวัคซีนมากกว่าสัดส่วนนี้อยู่แล้วซึ่งในเดือนนี้ คาดหมายว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5ล้านโดส เมื่อรวมกับเดือนมิถุนายน ก็อยู่ประมาณ 11 ล้านโดส ส่วนในประเด็นที่ว่าจะสามารถจำกัดการส่งออกได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล  แต่เรื่องจะต้องทำควาเข้าใจก็คือสถานการณ์ผลิตวัคซีน ผลิตเเล้วใช้ไปไม่ได้มีวัคซีนสต็อกเเละทั่วโลกก็ต้องการ เราต้องรับรู้ร่วมกัน ประเทศอื่นขาดเเคลน เราอยู่ในสถานะเดียวกัน  บางประเทศได้รับวัคซีนก่อนก็เพราะใช้วิธีสนับสนุนวิจัย”

สำหรับแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด สำหรับประชาชนไทย ในปี 2565  คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับประชาชนในปี 2565 เป็นจำนวนอีก 120 ล้านโดส ซึ่งเร่งรัดการเจรจาการจัดหาวัคซีน โดยพิจารณาดำเนินการกับผู้ผลิตวัคซีนที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นสอง ที่สามารถครอบคลุมไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ (Variants of concern) โดยให้มีเป้าหมายการส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565   ในวัคซีนรูปแบบ mRNA, ไวรัลเวกเตอร์, ซับยูนิตโปรตีน และรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมถึงการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปีถัดไป และสำรองวัคซีนในกรณีที่เกิดการระบาด

“สถาบันวัคซีนอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทที่ผลิตวัคซีนแบบซับยูนิตโปรตีน เช่น โนวาเเวคซ์ เเละอื่นๆ ซึ่งซับยูนิตโปรตีน มีกระบวนการผลิตเเสดงผลดีในการป้องกัน เห็นผลการทดสอบคือ โนวาเเวคเเละคิวบา มีประสิทธิผลในเฟส 3 ได้ผล 90% ทั้งคู่ เเละมีอีกหลายบริษัทที่กำลังเจรจา จัดหา เพื่อนำมาใช้ในปีนี้เเละปีหน้า”

นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยแพล็ตฟอร์มอื่นๆ นอกเหนือจากไวรัลเวกเตอร์ เช่น Inactivated Platform หรือ mRNA Platform

สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส รวมทั้งกำหนดแนวทางการขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 เช่น ประเทศอินเดีย

สนับสนุนการศึกษาภูมิคุ้มกันกับระยะยาวของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 3 ในประชาชนไทย ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ในปี 2565 อย่างใกล้ชิด และติดตามความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุโยเฉพาะเด็กและหญิงตั้งครรภ์