ไขข้อข้องใจ วิตามินดี ช่วยลดความรุนแรงของโควิด-19 ได้หรือไม่

15 ก.ค. 2564 | 08:25 น.

แพทย์เผยวิตามินดี มีความสำคัญในการลดความรุนแรงของโควิด-19 พร้อมย้ำการขาดวิตามินดีส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีบทบาทสำคัญต่อผลของการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ

พญ.ศรีกร จินะดิษฐ์ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลรามคำแหง ได้นำเสนอบทความในหัวข้อเรื่อง "วิตามินดีมีความสำคัญในการลดความรุนแรงของ COVID-19" โดยระบุว่า วิตามินดี เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย นอกจากเรื่องของการสร้างกระดูกอย่างที่เราเคยเรียนสุขศึกษาตอนเด็กๆ วิตามินดียังมีบทบาทสำคัญ ในขบวนการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย 


วิตามินดี เป็นวิตามินที่พบในอาหารจำพวกปลา เนื้อสัตว์ นม ถั่วเมล็ดแข็ง และร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากการรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากแสงแดด แต่ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงการป้องกันแสงแดดเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังและภาวะแก่ก่อนวัย ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ขาดวิตามินดี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมือง  

 

การขาดวิตามินดีอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อ หรือ immune response ของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอจะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดี  
 

กลไกการเกิดอาการรุนแรงของผู้ป่วยโควิด-19  (COVID-19) ไม่เพียงแต่เกิดจากตัวไวรัสโดยตรง แต่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อตัวเชื้อ โดยเม็ดเลือดขาวจะปล่อยสารเคมีที่กระตุ้นการอักเสบออกมามากเกินควบคุมที่เรียกเป็นศัพท์ทางการแพทย์ว่าพายุไซโตไคน์ (Cytokine Storm) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเซลและระบบต่างๆในร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด


วิตามินดี จึงมีผลต่อการควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจรวมถึงการควบคุมการอักเสบไม่ให้เกิดมากเกินไปจนทำลายเนื้อเยื่อ 


จากงานวิจัย ใน Irish Medical Journal พบว่ามีความสัมพันธ์ ระหว่างอัตราการตายและอัตราการติดเชื้อ ที่มีสูงในประเทศสเปนและอิตาลี ทั้งๆที่เป็นประเทศยุโรปตอนใต้ ที่มีแสงแดดและความอบอุ่น แต่มีสัดส่วนของคนที่ขาดวิตามินดีสูงกว่า

 

ในขณะที่ยุโรปตอนเหนือ เช่นกลุ่มประเทศนอร์ดิก กลับมีอัตราตายและอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า เพราะประเทศกลุ่มนี้มีการเสริมวิตามินดีในอาหารเป็นปกติมานานแล้ว ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดวิตามินดี 
 

งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ของการขาดวิตามินดีและอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 มีนัยยสำคัญทางสถิติ สำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่จะมีแนวโน้มขาดวิตามินดี ได้แก่ผู้สูงอายุ, เพศชาย, มีโรคประจำตัวเรื้อรัง, โรคอ้วน, ชนชาติที่มีสีผิวเข้ม (ผู้อพยพในยุโรปที่เป็น ชาวอาฟริกัน และเอเชียที่ผิวคล้ำ เมื่ออยู่ในประเทศที่มีแสงแดดน้อย ยิ่งทำให้การสังเคราะห์วิตามินดีน้อยลงไปอีก) 


จะเห็นได้ว่า ปัญหาการขาดวิตามินดี นอกจากจะส่งผลกับเรื่องความแข็งแรงของกระดูกแล้ว ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีบทบาทสำคัญต่อผลของการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึง COVID-19 อีกด้วย  

 

ดังนั้นคนที่ขาดวิตามินดีเช่น คนสูงอายุ ผิวสี ไม่ค่อยได้รับรังสี UVB หรือตรวจเลือดพบว่า วิตามินดีต่ำ การเสริมวิตามินดีให้พอเพียงน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งโรคRSV ไข้หวัดใหญ่และCOVID-19   
 

ที่มา:รพ.รามคำแหง