ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม อัพเดต วัคซีนทางเลือกที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เลือก

15 ก.ค. 2564 | 06:05 น.

อัพเดต ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) วัคซีนทางเลือกตัวแรกของเอเชียจากจีนที่ WHO รับรองและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เลือกเพื่อนำมาจัดสรรและฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ใช้เทคโนโลยีเชื้อตายในการผลิต มีความปลอดภัยสูง และไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง

ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ขึ้นแท่นเป็นวัคซีนโควิดต้านเชื้อโควิดที่คนไทยสนใจมากที่สุดอีกยี่ห้อหนึ่ง นับตั้งแต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศจะจัดซื้อเพื่อมาจัดสรรและบริการฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อนี้ให้กับคนไทย แต่เชื่อว่าน้อยคนที่จะรู้จักกับ ซิโนฟาร์ม  

ข้อมูลจากเว็บไซต์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  และ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีนทางเลือกยี่ห้อนี้เอาไว้ ฐานเศรษฐกิจ สรุปรวบรวมมาเพื่อให้ได้เข้าใจและรู้จักกับ ซิโนฟาร์ม วัคซีนทางเลือกยี่ห้อนี้กันมากขึ้น

วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือ BBIBP-CarV เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกของจีน ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัท ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และเป็นวัคซีนเพียงชนิดเดียวของประเทศในเอเชียที่ได้รับการรับรองดังกล่าว (ณ เวลานั้น) 

ปัจจุบันมีวัคซีนโควิด-19 เพียง 5 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการรับรองฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ของสหรัฐอเมริกา แอสตร้าเซนเนกาของสหราชอาณาจักร โมเดอร์นาของเยอรมนี จอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐอเมริกา และ ซิโนฟาร์มของจีน 

ขณะที่ ซิโนแวค วัคซีนอีกชนิดหนึ่งของจีนในเวลานั้นยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อการรับรอง กระทั่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ทาง WHO ได้ประกาศรับรองให้จึงถือเป็นวัคซีนตัวที่ 8 ที่ได้รับการรับรองเป็นกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกและเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ของจีนที่ได้รับการรับรองต่อจากวัคซีนซิโนฟาร์ม

ในประเทศไทย ซิโนฟาร์ม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นวัคซีนทางเลือกในลำดับที่ 6 

วัคซีนซิโนฟาร์มใช้เทคโนโลยีเชื้อตายในการผลิตเช่นเดียวกับซิโนแวค มีวิธีการผลิตแบบ Inactived vaccine มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวมถึง 79.4% และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง

อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่เคยมีประสบการณ์การใช้กับวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น ในทางกลับกันวัคซีนที่เป็นชนิดเชื้อตายนี้จะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง

วัคซีนทั้ง 2 ชนิดจากจีนมีข้อดี คือ จัดเก็บรักษาไว้ได้ในตู้เย็นปกติ ไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในการเก็บรักษาและกระจายวัคซีน เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกมีสภาพภูมิอากาศสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส อีกทั้งมีอุปสรรคด้านการคมนาคมขนส่ง

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ต้องฉีดวัคซีนนี้ 2 ครั้ง ทิ้งระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3 สัปดาห์ หรือ ประมาณ 28 วัน จึงจะสามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ โดยสามารถฉีดให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานการใช้ในต่างประเทศแล้วมากกว่า 15 ล้านโดส พบว่า มีความปลอดภัย

สำหรับผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนโนฟาร์มจะเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ อาทิ ปวด บวม และมีรอยแดง บริเวณที่ฉีด มีอากรอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ และอาการหนาวสั่น และคลื่นไส้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน และควรหายภายในระยะเวลาไม่กี่วันหลังได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว

ที่มา: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข