"หมอศิริราช" เตือนให้ออกซิเจนผู้ป่วยโควิดเองเสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย

15 ก.ค. 2564 | 01:40 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 16:15 น.

"หมอศิริราช" เตือนให้ออกซิเจนผู้ป่วยโควิด-19 เองเสี่ยงอันตรายต่อเนื้อเยื่อทั่วร่างกายหากได้รับปริมาณมากเกินไป หลังคนแห่ซื้อถังและเครื่องผลิตออกซิเจนจนขาดตลาด

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 และการให้ออกซิเจนในผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) เอง ว่า  
มีข่าวน่าสนใจสองเรื่องให้ช่วยออกความเห็น เรื่องแรกเป็นการบริหารจัดการวัคซีนเข็มที่สามให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากมีตัวเลือกระหว่างการฉีดของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งได้ทันทีเหมาะสำหรับคนที่งานเสี่ยงสูง กับการรอของไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งอาจจะได้ฉีดปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า ส่วนตัวแล้วคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ยังไม่มีใครรู้ว่า การฉีดเข็มสามจะกระตุ้นภูมิให้ขึ้นสูงใหม่ได้มากแค่ไหนและจะอยู่นานเท่าไร อีกทั้งเพียงพอในการต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ 
ส่วนตัวผมนั้นเลือกวัคซีนตัวที่ต้องรอไปก่อน ด้วยเหตุผลว่าขอบายให้คนที่จำเป็นกว่าได้ของเร็วของชัวร์ไปก่อน อีกอย่างคือเพื่อสนองตัณหาที่ชอบลองของใหม่ น่าสนใจว่าสองกลุ่มที่ได้เข็มสามต่างชนิดกันนี้ จะมีภูมิเพิ่มขึ้นจากก่อนฉีดเข็มสามแตกต่างกันหรือไม่

เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่น่าเจ็บใจ เพราะมีการขาดตลาดจากการแห่ซื้อไปตุน ทั้งถังออกซิเจนทางการแพทย์และเครื่องผลิตออกซิเจนสำหรับใช้ที่บ้าน ทำให้แผนการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิดในชุมชนก่อนส่งต่อเข้าโรงพยาบาลเกิดความไม่สมบูรณ์ เพราะไม่สามารถให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงและร่างกายขาดออกซิเจน ในระหว่างที่รอเตรียมการย้ายเข้ารับการรักษาในรพ.หลัก 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
การนำออกซิเจนไปใช้เมื่อเริ่มป่วยเป็นโควิด-19 โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และปราศจากการกำกับดูแลของแพทย์ อาจเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อทั่วร่างกายถ้าได้รับออซิเจนมากเกินไป ไม่นับเรื่องความสิ้นเปลืองและการเสี่ยงต่ออัคคีภัยถ้าใช้เป็นถังบรรจุออกซิเจน 
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทำความกระจ่างให้กับประชาชน พร้อมตรวจสอบความเพียงพอของการผลิตและจัดส่งออกซิเจนในทุกพื้นที่ของประเทศ นี่ก็ได้ข่าวว่าพ่อเมืองสาครเกทับทางกรุงเทพมาว่า ได้เปิดศูนย์พักคอยหลายแห่งทั่วจังหวัดจำนวนกว่าสี่พันเตียง ตนจึงเกทับกลับไปว่า ของเมืองหลวงเราไม่ต้องไปเปิดหรอกศูนย์พักคอยแบบนั้น เพราะเรามีจำนวนมากอยู่แล้วกระจายในที่พักทั่วไป เนื่องจากคนกรุงน่าจะติดเชื้อไปกว่าครึ่งหนึ่งแซงหน้าสมุทรสาครไปแล้วมั้ง   
อย่างไรก็ดี หมอนิธิพัฒน์ ยังระบุด้วยว่า ได้โอกาสไปติดตามผลการเป็นที่ปรึกษาให้จิตแพทย์และจิตพยาบาล (ขนานนามให้ใหม่) ควบคุมการใช้งานเครื่องไฮโฟลว์ในแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดปอดอักเสบโควิดรุนแรงหนึ่งราย ทุกอย่างยังราบรื่นดี พวกเขาเริ่มปรับตัวกับเครื่องมือและแผนการดูแลรักษาที่ไม่คุ้นเคย แต่ทั้งทีมก็ทำกันได้ดี อย่างน้อยก็ช่วยรักษาหน้าคนสอน เพราะถ้าอะไรไม่ดีต้องโทษครูไว้ก่อนที่จะไปโทษนักเรียน ผู้ป่วยรายนี้อาการทุเลาขึ้นช้าๆ จึงได้ซักซ้อมแผนการปรับลดความเข้มข้นและอัตราไหลของออกซิเจนที่ใช้ ควบคู่ไปกับลดขนาดยาสเตียรอยด์ที่ใช้ลดการอักเสบของปอด หวังว่าผลการประเดิมรายแรกของที่นี่จะออกมาดีเพื่อขวัญและกำลังใจของทีมงาน

จากนั้นได้เยี่ยมชมสถานที่ที่เตรียมจัดสร้างไว้เป็นหอผู้ป่วยโควิดและหอผู้ป่วยสังเกตอาการ (PUI) เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม ได้ช่วยออกความเห็นการจัดระบบหมุนเวียนอากาศ เส้นทางการเข้าออกของเจ้าหน้าที่และของผู้ป่วย เส้นทางการนำขยะติดเชื้อออกจากพื้นที่ การปกป้องสิ่งแวดล้อมข้างเคียงให้เชื้อฟุ้งกระจายออกไปน้อยที่สุด และที่สำคัญการทำให้บริเวณทำงานของบุคลากรมีความปลอดภัยสูงสุดจากการรับเชื้อจากผู้ป่วย และเนื่องจากระบบก๊าซทางการแพทย์อาจจัดสร้างใหม่ไม่ทัน จึงได้สนับสนุนเครื่องผลิตออกซิเจนชนิดเครื่องย้ายได้ (portable oxygen concentrator) จำนวน 10 เครื่องให้ไปใช้งานชั่วคราวก่อน
เมื่ออิ่มอกจากการได้เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโควิดของรพ.สมเด็จเจ้าพระยาแล้ว ยังได้อิ่มใจจากการที่เจ้าบ้านนำชมสถานที่สำคัญภายในรอบรั้วพื้นที่รวมราว 44 ไร่ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สร้างสถานที่แห่งนี้แล้วเสร็จหลังรพ.ศิริราชเพียงหนึ่งปี โดยในช่วงยี่สิบปีแรกนั้นก่อสร้างและใช้งานอยู่ในพื้นที่ถัดลงไปใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาจึงซื้อที่ดินจากเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุนทหาร และจากราษฎรใกล้เคียง และจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลด้านจิตเวชแห่งแรกจวบจนปัจจุบัน
ในส่วนเรือนที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เดิมเป็นบ้านของเจ้าของที่ดิน ต่อมาจึงดัดแปลงเป็นบ้านพักของผู้อำนวยการโรงพยาบาล ภายในรวบรวมข้าวของที่เคยถูกใช้งานมาแต่สมัยอดีต ดังเช่นระฆังสัมฤทธิ์ที่ใช้ส่งสัญญาณบอกเวลาระหว่างที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงอาหาร กรงขังและเสื้อเกราะที่ใช้กำราบผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบและก้าวร้าว เครื่องมือช็อคไฟฟ้าที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านเคยเสด็จมาเยี่ยมชม ฯลฯ ด้วยการวางรากฐานที่ดีของบรรพชน ทำให้ที่นี่จัดการดูแลผู้ป่วยด้วยหลักทางการแพทย์ควบคู่ไปกับหลักมนุษยธรรม สภาพแวดล้อมจึงถูกออกแบบมาให้ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้สีเขียว ตัวอาคารที่ดูไม่น่าเกรงขาม และพื้นที่ว่างสำหรับการทำกิจกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายเมื่อเข้ามาอยู่ และอาจช่วยให้กระบวนการรักษาและฟื้นฟูจิตใจบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขของผู้ปวยโควิดที่กำลังรักษาตัวอยู่วันที่ 14 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีจำนวน 99,511 ราบ โดยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 56,057 ราย และโรงพยาบาลสนาม 43,454 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวมีผู้ป่วยอาการหนัก 3,201 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 828 ราย