แจงปมเบรก "ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ" นายกฯสั่งคกก.โรคติดต่อฯหาข้อสรุป

14 ก.ค. 2564 | 03:00 น.
อัพเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2564 | 22:49 น.

โฆษกรัฐบาล แจงปมเบรก ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ยัน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้สั่งระงับการใช้ฉีดวัคซีนผสมสูตร ขอรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

จากกรณีที่มีการรายงานข่าวเมื่อช่วงค่ำเมื่อวานนี้ (14 กรกฎาคม 2564)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งเบรกการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อไปนั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเน้นการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเก็บสถิติในการฉีดวัคซีนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนแม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

สำหรับการใช้วัคซีน “ผสมสูตร” สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้คือการเร่งฉีดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด  เพราะสายพันธุ์เดลตามีการระบาดที่รุนแรง และติดต่อได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา และกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งวัคซีนทุกชนิดสามารถลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงเสียชีวิต

ส่วนการวิจัยในไทยนั้นก็เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหนึ่ง ที่แสดงถึงความพยายามของคณะแพทย์ของไทยที่ไม่หยุดคิด ไม่ยอมแพ้กับปัญหา ครั้งนี้ก็พยายามเอาชนะสายพันธุ์เดลตา ซึ่งก็ต้องพยายามหาทุกวิถีทางที่ดีที่สุด และทำอย่างเป็นระบบ และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในที่สุด

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยรัฐบาลเปิดกว้างและส่งเสริมให้มีการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะต้องให้ความรู้อย่างรอบด้านแก่ประชาชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้วัคซีน “ผสมสูตร” แต่อย่างใด และขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในกรณี “วัคซีนผสมสูตร/สลับสูตร” เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย

ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่สำคัญคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) 
โดยหัวหน้านักวิทยาศาสตร์, Soumya Swaminathan ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า “ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้  แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐด้านสาธารณสุข บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา”